องค์ความรู้เรื่อง "เขื่อนขุนด่านปราการชล"

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้

เขื่อนขุนด่านปราการชล

จังหวัดนครนายก

            เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบน โดยให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองท่าด่าน ที่บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรกรรม อุปโภค - บริโภค แก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว และช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตจังหวัดนครนายก

            เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๔ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนคลองท่าด่าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน จังหวัดนครนายก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกันดำเนินงานสนองพระราชดำริ โดยก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบพร้อมส่วนประกอบอื่น มีขนาดความจุอ่างเก็บน้ำ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ผิวอ่างฯ ที่ระดับเก็บกักปกติรวม 3,087 ไร่

             เขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ ประกอบด้วย

            1. เขื่อนหลัก เป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัด ซึ่งใช้ส่วนประกอบจากเถ้าถ่านหิน ของ กฟผ. สูง 93 เมตร ความยาว 2,594 เมตร ปริมาตรคอนกรีตบดอัด 5,470,000 ลูกบาศก์เมตร

            2. อาคารระบายน้ำล้น เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,454 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ผ่านช่องระบาย 4 ช่อง

            3. อาคารระบายน้ำลงลำน้ำเดิม เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ระบายผ่านท่อเหล็ก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.0 เมตร สามารถระบายน้ำได้ 42 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

            4. อาคารระบายน้ำ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ระบายน้ำผ่านช่องขนาดกว้าง 5.0 เมตร สูง 3.0 เมตร สามารถระบายน้ำได้ 182.0 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งสามารถลดระดับน้ำจากระดับเก็บกักที่ + 110.00 ม.รทก. ลงมาที่ระดับ +70.00 ม.รทก. ภายใน 10 วัน

            5. อาคารส่งน้ำเข้าคลองชลประทาน เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ระบายน้ำผ่านท่อสแตนเลส ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.90 เมตร จำนวน 1 ท่อ ระบายน้ำลงคลองชลประทาน สามารถส่งน้ำเข้าคลองได้รวม 6.05 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

            6. อาคารผันน้ำระหว่างการก่อสร้างเขื่อน ประกอบด้วย

            - ทำนบดินปิดกั้นลำน้ำเดิม ขนาดสูง 12.00 เมตร กว้าง 5.00 เมตร ความยาวรวม 1,084 เมตร

            - อาคารคอนกรีต ด้านเหนือน้ำและท้ายน้ำ ขนาดความสูง 12.00 เมตร และ 13.00 เมตร

            - อาคารผันน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กแบบ 2 ช่อง ขนาด 7.00 x 9.00 เมตร และ 6.00 x 9.00 เมตร สามารถระบายน้ำได้ 700 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

            7. เขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ เป็นเขื่อนดินสูง 46.0 เมตร กว้าง 8.0 เมตร ยาว 350 เมตร ปริมาตรเขื่อน 1,220,000 ลูกบาศก์เมตร

            ระบบส่งน้ำและระบบระบายน้ำ ประกอบด้วย

            1. พื้นที่โครงการท่าด่านเดิมและส่วนขยาย รวม 20,000 ไร่

            2. พื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก 165,000 ไร่

           เริ่มก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๔๐ แล้วเสร็จเมื่อปี ๒๕๕๒ รวมระยะเวลา ๑๓ ปี เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเขื่อนคลองท่าด่านว่า “เขื่อนขุนด่านปราการชล” พร้อมทั้งมีพระราชกระแสให้ติดป้ายโลหะจารึกประวัติของขุนหาญพิทักษ์ไพรวัน ซึ่งมีประวัติว่าเป็นนายด่านแห่งนี้ ณ บริเวณเขื่อนเพื่อเชิดชูเกียรติคุณของท่าน

            ประโยชน์ของโครงการ คือ ส่งน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนาข้าว สวนผลไม้ และพืชไร่พื้นที่รวม 185,000 ไร่ ส่งน้ำเพื่อการอุปโภค - บริโภค 16 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ช่วยเกษตรกรให้ได้รับผลประโยชน์ 5,400 ครัวเรือน บรรเทาปัญหาดินเปรี้ยว ลดความเสียหายจากอุทกภัยช่วยรักษาระบบนิเวศน์และผลักดันน้ำเค็ม รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้ประชาชนชาวจังหวัดนครนายกมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

 

 

                                                                                                กลุ่มนโยบายพิเศษ
                                                                                                 ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๔

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

curve