องค์ความรู้เรื่อง "เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์"

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทราบปัญหาน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๒ ให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสัก เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

          ต่อจากนั้นได้มีพระราชดำรัสอีก ๒ ครั้ง ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๖ และวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๗ สรุปความว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และปัญหาอุทกภัย จะได้รับการบรรเทาให้น้อยลง เมื่อได้ก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสัก

   

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

          กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริโดยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ฯ เห็นสมควรให้สร้างเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสัก ที่บ้านหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และที่บ้านคำพราน อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี และผลการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้เปิดโครงการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสัก เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๗

  

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

           เขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสักเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๗ ถึง ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๒ รวมระยะเวลา ๕ ปี มีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการก่อสร้าง โดยได้รับการสนับสนุนทั้งกำลังพล และเครื่องจักรเครื่องมือจากกรมทหารช่าง กองทัพบก เป็นผลทำให้การก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ดำเนินการได้ตามแผนและบรรลุผลเป้าหมายที่กำหนด

           เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๑ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานพิธี เริ่มการเก็บกักน้ำเป็นปฐมฤกษ์

           วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๑ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามเขื่อนแห่งนี้ว่า "เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์" อันหมายถึง "เขื่อนแม่น้ำป่าสักที่เก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

           โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก เป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ประเภทอ่างเก็บน้ำ ที่จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง และบรรเทาอุทกภัย ตลอดจนเป็นแหล่งน้ำสำหรับการประมง และการอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดลพบุรี สระบุรี และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย

           ลักษณะโครงการ เป็นชนิดเขื่อนดินแบบ (ZONED TYPE) ยาว ๔,๘๖๐ ม. สูง ๓๖.๕๐ ม. ความจุเก็บกักปกติ ๗๘๕ ล้าน ลบ.ม. อาคารระบายน้ำล้น สามารถระบายน้ำได้สูงสุด ๓,๙๐๐ ลบ.ม./วินาที ท่อระบาย ลงลำน้ำเดิม เป็นท่อเหล็กเหนียวหุ้มด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓.๐๐ ม. สามารถระบายน้ำได้สูงสุด ๘๐.๐ ลบ.ม./วินาที อาคารท่อระบายน้ำฉุกเฉิน เป็นท่อเหล็กเหนียวหุ้มด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓.๐๐ ม.สามารถระบายน้ำได้สูงสุด ๖๕.๐ ลบ.ม./วินาที งานก่อสร้างส่วนประกอบอื่น ๆ ได้แก่ ก่อสร้างคันกั้นน้ำ ๒ แห่ง ได้แก่ คันกั้นน้ำโคกสลุง ความยาว ๔.๑๒๐ กม. และคันกั้นน้ำท่าหลวง ความยาว ๑.๗๑๖ กม. รวมความยาวทั้งสิ้น ๕.๘๓๖ กม. งานก่อสร้างถนนรอบอ่างเก็บน้ำ ความยาว ๑๔๐ กม. และปรับปรุงแม่น้ำป่าสัก ความยาว ๘.๕ กม.

           ระบบส่งน้ำและระบบระบายน้ำ พื้นที่ชลประทาน ๑๔๔,๕๐๐ ไร่ ประกอบด้วย

            - โครงการสูบน้ำพัฒนานิคมและพัฒนานิคม - แก่งคอย ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ๑ แห่ง พร้อมการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ๖ เครื่อง อัตราการสูบน้ำรวม ๑๐.๔๕ ลบ.ม./วินาที ท่อส่งน้ำชนิดรับแรงดันสูง ๒ ท่อ โดยท่อ ที่ ๑ ความยาว ๖ กิโลเมตร ส่งน้ำเข้าบ่อพักน้ำ ๑ ให้กับโครงการพัฒนานิคม และท่อที่ ๒ ความยาว ๘ กิโลเมตร ส่งน้ำเข้าบ่อพักน้ำ ๒ ให้กับโครงการพัฒนานิคม - แก่งคอย

             - โครงการสูบน้ำพัฒนานิคม คลองส่งน้ำดาดคอนกรีต ๓๔ สาย ความยาวรวม ๙๗.๖๐๐ กิโลเมตร พื้นที่ชลประทาน ๒๙,๓๐๐ ไร่ และโครงการสูบน้ำพัฒนานิคม - แก่งคอย คลองส่งน้ำดาดคอนกรีต ๓๒ สาย ความยาวรวม ๙๓.๗๖๖ กิโลเมตร พื้นที่ชลประทาน ๒๘,๕๐๐ ไร่

             - โครงการสูบน้ำแก่งคอย – บ้านหมอ : สถานีสูบน้ำ ๑ แห่ง พร้อมเครื่องสูบน้ำ ๗ เครื่อง ขนาด ๒.๔๔ ลบ.ม./วินาที อัตราการสูบน้ำรวม ๑๗.๐๘ ลบ.ม./วินาที คลองส่งน้ำดาดคอนกรีต ๓๑ สายความยาว ๑๓๙.๘๘๐ กิโลเมตร พื้นที่ชลประทาน ๘๖,๗๐๐ ไร่

             การจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรจังหวัดลพบุรี ก่อสร้างสถานีสูบน้ำและระบบส่งน้ำด้วยท่อส่งน้ำ ความยาวรวมประมาณ ๑๐๖.๗๕ กม.พื้นที่ชลประทาน ๓๐,๐๐๐ ไร่

             เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้นำระบบโทรมาตร มาใช้ในการคำนวณ พยากรณ์และคาดการณ์สถานการณ์น้ำในบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ตลอดจนการเก็บข้อมูล สถิติน้ำฝน น้ำท่า อย่างต่อเนื่องเป็นระบบ ทำให้สามารถควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสัก ส่งผลให้ลดผลกระทบที่มีต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วยป้องกันและบรรเทาสภาวะอุทกภัยได้ โดยเฉพาะเมื่อปี ๒๕๕๐ ในช่วงวันที่ ๒๒ - ๓๐ ตุลาคม ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณสูงมาก จึงลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์โดยให้มีการเก็บน้ำสูงกว่า ๙๖๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอบางไทรอยู่ในระดับที่ไม่เกินระดับตลิ่ง

             มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในด้านการบริหารจัดการน้ำ การดูแลบำรุงรักษา และการจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าในการสูบน้ำ ปัจจุบันมี ๘๑ กลุ่ม แบ่งเป็น

             โครงการสูบน้ำพัฒนานิคมและโครงการสูบน้ำพัฒนานิคม – แก่งคอย มีกลุ่มพื้นฐาน ๕๖ กลุ่ม กลุ่มบริหาร ๕ กลุ่ม รวม ๖๑ กลุ่ม

             โครงการสูบน้ำ แก่งคอย - บ้านหมอ มีกลุ่มพื้นฐาน ๑๖ กลุ่ม กลุ่มบริหาร ๔ กลุ่ม รวม ๒๐ กลุ่ม

              เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค - บริโภคน้ำเพื่อการเกษตร โดยสามารถส่งน้ำช่วยพื้นที่การเกษตรฤดูฝน ๒๒๐,๒๐๐ ไร่ พร้อมทั้งสามารถส่งน้ำพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่อีก ๑๗๔,๕๐๐ ไร่ เพิ่มผลผลิตข้าวนาปรังเฉลี่ย ๘๐ - ๙๐ ถัง/ไร่ และช่วยการขาดแคลนน้ำ รวมถึงการส่งน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ตลอดจนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา และเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ เป็นแหล่งพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการประเมินผลเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ดำเนินการเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๘ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในทางระบบนิเวศของน้ำ กล่าวคือหลังจากการสร้างเขื่อนก่อให้เกิดชนิดของแพลงตอนเพิ่มขึ้น จากเดิม ๑๕ ชนิด เป็น ๕๑ ชนิด พบชนิดพันธุ์ปลามากขึ้นกว่าเดิม ๑๐๐ ชนิด ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนมีรายได้สุทธิจากการประกอบอาชีพในภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร เช่น การทำประมง การแปรรูป การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก ๒๒,๔๖๕ บาท/ครัวเรือน/ปี เป็น ๔๔,๕๐๔ บาท/ครัวเรือน/ปี

แผนที่โครงการ

 

 

 

 

                                                                                                กลุ่มนโยบายพิเศษ
                                                                                                ๑๗ กันยายน ๒๕๖๔

curve