องค์ความรู้เรื่อง "โครงการสาธิตทฤษฎีใหม่ปักธงชัย"

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้

โครงการสาธิตทฤษฎีใหม่ปักธงชัย

รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ราษฎรเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายที่ดิน

          เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้รับที่ดินที่ราษฎร น้อมเกล้าฯ ถวาย บริเวณ ต.ธงชัยเหนืออ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา และพระราชทานที่ดังกล่าวให้จัดทำโครงการสาธิตทฤษฎีใหม่ขนาดเล็ก

          เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นางจรรยา ปั้นดี เข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน ๒ แปลง พื้นที่รวมทั้งสิ้น ๒๑ ไร่ ๓ งาน ๓๙ ตารางวา ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑๔ บ้านฉัตรมงคล ตำบลธงชัยเหนือ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา โดยมีพระราชดำริให้พิจารณาจัดทำเป็นโครงการสาธิต “ทฤษฎีใหม่” และทำนาแบบวิถีชาวบ้าน เพื่อเปรียบเทียบกับ ทฤษฎีใหม่

พื้นที่สาธิตทฤษฎีใหม่

นาข้าว

 

  

พืชไร่ไม้ผล

ศาลาวิชาการ 

 

สระน้ำ

         ต่อมา เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๑ นางสมควร มณีสุริยา ได้ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าถวายที่ดิน อยู่ติดกันทางทิศใต้แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพิ่มเติม จำนวน ๗ ไร่ ๒ งาน ๘๕   ตารางวา

          นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๘ นายรัตนะ ปั้นดี ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน ซึ่งอยู่ติดกันทางทิศตก แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพิ่มเติมอีก จำนวน ๓ ไร่ ทำให้โครงการมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น ๓๒ ไร่ ๒ งาน ๒๔ ตารางวา

          หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองทัพภาคที่ ๒ จังหวัดนครราชสีมา กรมวิชาการเกษตร ร่วมกันดำเนินงาน โดยแบ่งพื้นที่จัดทำกิจกรรมของโครงการ ดังนี้

          กิจกรรม ๑ บริเวณพื้นที่สาธิต “ทฤษฎีใหม่”

          ­ ทำนาข้าว พื้นที่ ๔.๕ ไร่ ทำการปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ ๑๐๕ โดยการตกกล้าปักดำ ปักดำในเดือน กรกฎาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือน ธันวาคม หลังเก็บเกี่ยวข้าว ปลูกพืช หลังนาอายุสั้นเพื่อหมุนเวียนและบำรุงดิน เช่น ถั่วเขียว ถั่วลิสง และข้าวโพดหวานฝักสด ไม้ผล พื้นที่ ๒.๘ ไร่ ปลูกไม้ผลหลักโดยแบ่งออกเป็น ๒ แปลง พืชที่ปลูก ได้แก่ มะม่วง มะขาม กระท้อนและส้มโอ ไม้ผลรอง ได้แก่ ฝรั่ง น้อยหน่า และกล้วยน้ำว้า พืชแซม และปลูกข้าวขาวดอกมะลิ ๑๐๕ ปรับโครงสร้างดินด้วยหญ้าแฝกแบบผสมผสาน เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรที่อยู่อาศัย พื้นที่ ๑ ไร่ เลี้ยงไก่สามสายเลือด และไก่พื้นเมืองจำนวน ๒๐ ตัว โดยปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ และให้อาหารเสริมเป็นบางครั้ง ทดลองเลี้ยงกบในบ่อดิน เลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน จำนวน ๕๐๐ ตัว เลี้ยงเป็ดเทศ จำนวน ๒๐ ตัว เลี้ยงหมูหลุม จำนวน ๑๐ ตัว เลี้ยงโค (โคไถ่ชีวิต) จำนวน ๓ ตัว โดยใช้อาหารประเภทสำเร็จรูป ประเภทที่หาได้ง่าย และวัสดุเหลือจากการเกษตร ปลูกพืชสมุนไพร และพืชผักสวนครัว สระน้ำ พื้นที่ ๒.๕ ไร่ เลี้ยงปลากินพืชชนิดต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายและบริโภค โดยปล่อยปลาตะเพียน จำนวน ๓๒,๐๐๐ ตัว ใช้วัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ฟางข้าว เศษหญ้า ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อปรับสภาพน้ำ และเป็นอาหารปลา ริมขอบบ่อปลูกพืชผัก พืชสมุนไพร ไม้ผล ไม้ยืนต้น เพื่อการบริโภคและจำหน่ายสร้างรายได้ตลอดปี

          กิจกรรม ๒ ทำนาแบบดั้งเดิมตามวิถีชาวบ้าน พื้นที่ ๖ ไร่ ปลูกข้าวขาวดอกมะลิ ๑๐๕

         กิจกรรม ๓ การวิจัยและพัฒนา ปรับพื้นที่บริเวณแปลงไม้ผลเดิม พื้นที่ ๔ ไร่ เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่นาข้าวตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ โดยปลูกข้าวขาวดอกมะลิ ๑๐๕ ด้วยวิธีการหว่าน ๑๘.๗๕ กิโลกรัมต่อไร่ หลังเมล็ดงอก ๑๐ วัน ฉีดพ่นฮอร์โมน ในอัตรา ๑๐ ซีซี./น้ำ ๒๐ ลิตร

          กิจกรรม ๔ การขยายผล พัฒนาเป็นแหล่งฝึกอบรมและแปรรูปผลผลิตในโครงการ พื้นที่ ๗ ไร่

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสถึงโครงการสาธิตทฤษฎีใหม่ปักธงชัย เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ตอนหนึ่งความว่า "...มีคนเอาที่มาให้อยู่อำเภอปักธงชัย...บอกว่าทำอะไรก็ได้...จึงจะทำโครงการสาธิตทฤษฎีใหม่ ในที่ที่เหลือส่วนหนึ่งจะทำการเพาะปลูกแบบชาวบ้านแบบไม่ได้ส่งเสริม หมายความว่าใช้น้ำฝน ใช้ธรรมชาติแต่อีกส่วนหนึ่งจะทำแบบทฤษฎีใหม่ที่ขุดสระ และแบ่งเป็นส่วนที่จะปลูกข้าว ปลูกไม้ยืนต้น ปลูกพืชสวน..."

          ประโยชน์ของโครงการ เกษตรกรสามารถศึกษาวิธีการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และสามารถนำไปประกอบอาชีพเกษตรได้อย่างถูกวิธี ซึ่งการทำเกษตรทฤษฎีใหม่สามารถทำเกษตรในฤดูแล้งที่มีน้ำน้อย โดยนำน้ำที่เก็บไว้ในสระ มาปลูกพืชผักต่างๆ ที่ใช้น้ำน้อยได้ ไม่ต้องรอน้ำจากระบบชลประทาน และในปีที่ฝนตกตามฤดูกาล โดยมีน้ำดีตลอดปี ทฤษฎีใหม่ก็ทำให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ให้มากขึ้นได้ ส่วนในกรณีที่เกิดอุทกภัยก็สามารถที่จะฟื้นตัวได้รวดเร็ว และราษฎรสามารถช่วยตนเองได้ในระดับหนึ่ง โดยทางราชการไม่ต้องช่วยเหลือมากเกินไป อันเป็นการประหยัดงบประมาณด้วย

 

พื้นที่เกษตรวิถีชาวบ้าน

แผนผังการแบ่งแปลง

แผนที่โครงการ

 


                                                                                                กลุ่มนโยบายพิเศษ
                                                                                                 ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๔

curve