องค์ความรู้เรื่อง "ทฤษฎีใหม่ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์"

รายละเอียดองค์ความรู้

โครงการทฤษฎีใหม่
อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
 
                พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๓๕ ให้พิจารณาจัดหาน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกของราษฎร โดยขุดสระเก็บกักน้ำตามหลักทฤษฎีใหม่ เช่นเดียวกับในพื้นที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา จังหวัดสระบุรี ซึ่งมีราษฎรน้อมเกล้าฯ ถวาย ณ บ้านแดนสามัคคี ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เนื้อที่ ๑๓ ไร่ ๓ งาน สภาพเดิมเป็นพื้นที่แห้งแล้งมาก อยู่ในพื้นที่ดอน ทำนาไม่ได้ผล 
               เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ มีพระราชดำริให้ก่อสร้างขยายระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำพะยัง พร้อมทั้งพิจารณาขุดสระน้ำประจำไร่นาเพื่อรับน้ำจากระบบส่งน้ำดังกล่าว ตามแนวทฤษฎีใหม่ 
ทฤษฎีใหม่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์.
 
               หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กองทัพภาคที่ ๒ อำเภอเขาวง และศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ได้ร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำและขุดสระน้ำตามแนวทฤษฎีใหม่ ในพื้นที่อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ เป็นต้นมา รวมจำนวนสระน้ำ ๔๗๑ แห่ง พร้อมทั้งสนับสนุนปัจจัยการผลิตพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ พันธุ์ปลา การฝึกอบรมให้ความรู้พัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่
               เมื่อปี ๒๕๕๒ มีการสำรวจผลสำเร็จของโครงการ พบว่า สระน้ำบางส่วนไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ การรวมกลุ่มของราษฎรยังไม่เข้มแข็ง ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จังหวัดกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) จึงร่วมกันประสานแผนงาน/โครงการ การให้ความรู้ด้านการเกษตร การเพิ่มทักษะการเกษตร การรวมกลุ่มอาชีพ เพื่อพัฒนากลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้พัฒนาจากทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๑ ไปสู่ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๒ โดยดำเนินการ ดังนี้ 
 
ผลิตข้าวเหนียวเขาวง กาฬสินธุ์
 
              ๑. จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน จำนวน ๖ ศูนย์
          ๒. จัดฝึกอบรม การผลิตข้าวพันธุ์ดี การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การเลี้ยงปศุสัตว์ การเพาะเห็ด การประมง การพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ การบริหารจัดการโรงสีข้าว เป็นต้น
             ๓. ส่งเสริมการใช้พื้นที่ขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด “๑ ไร่ไม่ยากจน” มีสมาชิก ๗๒๐ คน ต่อมาเปลี่ยนเป็น “๑ ไร่ ๑ แสน” เกิดเครือข่าย “ฮักแพงแบ่งปันอำเภอเขาวง” และตลาดนัดสีเขียวทุกเย็นวันศุกร์
            ๔. จัดเวทีชุมชน ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อให้การผลิตมีความยั่งยืน
            ๕. ขยายศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ ๖ ตำบล เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน 
            ๖. จัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกร “เด็กไทยหัวใจเกษตร”
          ๗. รวมกลุ่มสร้างแผนการตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP โดยส่งเสริมสินค้านำมาจำหน่ายที่ร้านค้าของชุมชน ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตเกษตรปลอดภัย ข้าวแปรรูป เป็นต้น 
           ๘. ร่วมมือกับแหล่งเงินและแหล่งทุน โดยร่วมกับหน่วยงานราชการและภาคเอกชนจัดการศึกษาอบรมด้านสหกรณ์ การทำบัญชีฟาร์ม การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ การพัฒนาตลาดอาหารปลอดภัยการปรับปรุงโรงสีข้าว เป็นต้น
          โครงการขยายผลทฤษฎีใหม่ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับรางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการ แบบมีส่วนร่วมระดับดีเยี่ยม เมื่อปี ๒๕๕๓ จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
 

 
  กลุ่มนโยบายพิเศษ 
                   ๑๙  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๔

curve