องค์ความรู้เรื่อง "อ่างเก็บน้ำห้วยหวด"

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้

"โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหวด"

  

รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ อ่างเก็บน้ำห้วยหวด

           พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรบริเวณลุ่มน้ำห้วยหาด เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ มีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหวดโดยเร่งด่วน เพื่อจัดหาน้ำส่งให้พื้นที่เพาะปลูกของราษฎร หมู่บ้านน้อย บ้านจันทร์เพ็ญ บ้านบึงสา และหมู่บ้านใกล้เคียงในเขตอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร สามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งฤดูฝน ฤดูแล้ง และน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค สำหรับราษฎรในบริเวณหมู่บ้านดังกล่าวได้ตลอดทั้งปี
           กรมชลประทาน ได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหวด เป็นลักษณะเขื่อนดิน ปิดกั้นลำห้วยหวด ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร สูง ๒๖ เมตร ยาว ๓๙๕ เมตร ความจุประมาณ ๒๑ ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมทั้งท่อส่งน้ำฝั่งซ้ายขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๙๐ เมตร ท่อส่งน้ำฝั่งขวาเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๓๐ เมตร คลองส่งน้ำ ๗ สาย ความยาวรวม ๒๑.๓๔ กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๒๖ แล้วเสร็จเมื่อปี ๒๕๓๐ ส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรประมาณ ๘,๐๐๐ ไร่ ในพื้นที่ตำบลจันทร์เพ็ญ และตำบลเต่างอย 
          เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ มีพระราชดำริเกี่ยวกับงานพัฒนา สรุปความว่า โครงการชลประทานต่างๆ ที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ควรจัดการให้ราษฎร มีการใช้น้ำอย่างถูกวิธีและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันดำเนินการ
         เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๑ มีพระราชดำริถึงโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหวด จังหวัดสกลนคร สรุปความว่า ยังมีคนใช้ประโยชน์ไม่พอ เป็นอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่มาก มีน้ำมาก แต่ไม่มีคนใช้ประโยชน์จากน้ำเท่าที่ควร ทรงห่วงใยเรื่องการใช้น้ำ เพราะอ่างเก็บน้ำห้วยหาด ทรงจำได้ว่ามีความจุ ๒๒ ล้านลุกบาศก์เมตร
          จากการสำรวจข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน และน้ำชลประทาน พบว่าในฤดูฝนมีการเพาะปลูกพืชเต็มพื้นที่ ๘,๐๐๐ ไร่ ปริมาณน้ำที่ส่งให้พื้นที่เพาะปลูก ๑๓ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ในช่วงฤดูแล้งมีการเพาะปลูก ๕๘๗ ไร่ ปริมาณส่งน้ำ ๑.๓ ล้านลูกบาศก์เมตร

 

อ่างเก็บน้ำ

 

ระบบส่งน้ำ

         หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำชลประทาน โดยการส่งเสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ทำให้มีการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น เต็มพื้นที่ส่งน้ำ ๒,๕๐๐ ไร่ พืชที่ปลูก ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดฝักอ่อน มะเขือเทศโรงงาน ข้าวโพดฝักสด ถั่วลิสง แตงโม เป็นต้น

 

พื้นที่รับประโยชน์

แผนที่โครงการ


กลุ่มนโยบายพิเศษ

๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๓

curve