องค์ความรู้เรื่อง "โครงการพรุโต๊ะแดง"

รายละเอียดองค์ความรู้

 โครงการพรุโต๊ะแดง
 
         เมื่อปี ๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้ควบคุมเก็บกักน้ำในพรุโต๊ะแดงเพื่อป้องกันไฟไหม้ป่าพรุ แต่การกักเก็บน้ำในระยะแรก ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทำกินของราษฎร ต่อมาจึงมีพระราชดำริให้บริหารจัดการน้ำในป่าพรุโต๊ะแดงโดยเอื้อประโยชน์แก่ป่าและไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชน
     
 
คันกั้นน้ำและระบบระบายน้ำ
 
           หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ก่อสร้างเสริมคันกั้นน้ำชายขอบพรุโต๊ะแดง บริเวณช่วงบ้านโคกอิฐ – โคกใน – โคกกูแว ตำบลพร่อน ถึง บ้านปลักปลา ตำบลโฆษิต อำเภอตากใบ ขุดลอกคลองระบายน้ำออกจากพื้นที่พรุ และปรับปรุงระบบระบายน้ำรอบขอบพรุให้สามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้น รวมทั้งกำหนดเกณฑ์รักษาระดับน้ำในพรุให้สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ และสถานการณ์น้ำในช่วงต่างๆ ที่เหมาะสม
     
 
     
ป่าพรุโต๊ะแดง
 
 
          ป่าพรุโต๊ะแดง หรือป่าพรุสิรินธร ตำบลปูโย๊ะ อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เป็นป่าพรุที่มีเนื้อที่มากที่สุดที่ยังเหลืออยู่ในประเทศไทย เมื่อปี ๒๕๔๕ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้พิจารณาจัดทำโครงการศูนย์ศึกษาวิจัยธรรมชาติและป่าพรุสิรินธร โดยหน่วยปฏิบัติการวิจัยร่วมทางธรรมชาติวิทยาป่าพรุ และป่าดิบชื้นฮาลา – บาลา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ค้นคว้าวิจัยและสำรวจ เพื่อนำองค์ความรู้ไปขยายผลดำเนินงานวิจัยต่อ เป็นการส่งเสริมงานวิจัยด้านชีวทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นแก่การรักษาและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อว่า “ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร”
          พื้นที่โครงการครอบคลุมป่าพรุโต๊ะแดง ประมาณ ๑๒๕,๖๒๕ ไร่ อยู่ในท้องที่อำเภอสุไหงโกลก อำเภอตากใบ และอำเภอสุไหงปาดี มีพื้นที่ป่าสมบูรณ์ประมาณ ๕๐,๐๐๐ ไร่ แหล่งน้ำในพื้นที่ ได้แก่ คลองสุไหงปาดี แม่น้ำบางนารา และคลองโต๊ะแดง
     
ทางเดินศึกษาธรรมชาติ
 
          หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทำทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติป่าพรุ เป็นลักษณะสะพานไม้ ระยะทาง ๑,๒๐๐ เมตร บางช่วงเป็นหอสูงสำหรับศึกษาเรือนยอดไม้และชมทิวทัศน์ของป่าพรุ จัดทำห้องนิทรรศการให้ความรู้แก่ผู้มาศึกษาดูงาน
หลุมพี
 
          พันธุ์ไม้ที่พบในป่าพรุ มีมากกว่า ๔๐๐ ชนิด ที่รับประทานได้ เช่น หลุมพี ซึ่งเป็นไม้ในตระกูลปาล์ม ผลลักษณะคล้ายระกำ นอกจากนี้ที่สำคัญ ได้แก่ หมากแดง ปาหนันช้าง กล้วยไม้ เป็นต้น
     
แมลงหัวหงอก                                                           ลิง
 
          พันธุ์สัตว์ป่า พบมากกว่า ๒๐๐ ชนิด เช่น ค่าง ชะมด หมูป่า หมีขอ แมวป่า หนูสิงคโปร์ เป็นต้น
          พันธุ์ปลา ที่สำคัญ ได้แก่ ปลาปากยื่น เป็นปลาชนิดใหม่ของโลก พบที่ป่าพรุสิรินธรนี้เท่านั้น ปลาดุกรำพัน ที่สามารถนำไปส่งเสริมการเลี้ยงในแหล่งน้ำเปรี้ยวได้ ปลากะแมะ เป็นต้น
นกเงือก
 
          พันธุ์นก ที่โดดเด่น ได้แก่ นกกางเขนดงหางแดง นกจับแมลงสีฟ้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เป็นต้นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการศึกษาธรรมชาติ คือ เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีฝนตกน้อยที่สุด
 
 

 
  กลุ่มนโยบายพิเศษ 
                     ๑๖  ตุลาคม  ๒๕๖๓

curve