องค์ความรู้เรื่อง "โครงการพัฒนาบ้านยูโย"

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้ โครงการพัฒนาบ้านยูโย

อาคารอัดน้ำเข้าสู่แปลงเกษตร

 

          คูส่งน้ำคาดคอนกรีต 1         

 

คูส่งน้ำคาดคอนกรีต 2

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริ เมื่อปี 2536 สรุปความว่า เพื่อให้ราษฎรในเขตโครงการบ้านยูโยได้เห็นรูปแบบการปรับปรุงคุณภาพดินเปรี้ยวให้สามารถใช้ทำการเพาะปลูกได้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ควรจัดทำแปลงสาธิตในบริเวณนี้ต่อไป
          เมื่อปี ๒๕๓๙ มีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดบ้านยูโยโดยให้นำผลสำเร็จจากการศึกษาในศูนย์ฯ ไปดำเนินการในรูปแบบทฤษฎีใหม่ และให้ศึกษาถึงวิธีการปรับปรุงสระน้ำในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง
 
คันกั้นน้ำ
 
สะพานน้ำ (Flume)
 
        เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๓๙ มีพระราชดำริให้ขุดสระเก็บน้ำในพื้นที่โครงการบ้านยูโย โดยขุดสระเก็บน้ำขนาดใหญ่ ๒ แห่ง บริเวณ ๒ ข้างของต้นคลองสายย่อยทั้ง ๕ สาย เพื่อเป็นแหล่งพักและเก็บน้ำ รวมทั้งใช้สำหรับศึกษาทดลองด้วยการขุดสระข้างหนึ่ง โดยไม่มีการปรับปรุงคุณภาพดินแต่อย่างใด สำหรับอีกข้างหนึ่ง ให้ขุดเอาชั้นดินเปรี้ยวขนย้ายออกไปทิ้งด้านในพรุ และใช้หินปูนฝุ่นโรยปูพื้นและตามลาดด้านข้างของสระ เพื่อปรับปรุงคุณภาพ แล้วให้ทำการศึกษาเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ของสระเก็บน้ำ และเมื่อทำการทดลองและใช้น้ำในสระเก็บน้ำบริเวณต้นคลองได้ผล ให้พิจารณาขุดสระเก็บน้ำตามแนวคลอง และกระจายในพื้นที่ตามรูปแบบโครงการทฤษฎีใหม่ พร้อมทั้งให้ทดลองใช้พื้นที่เพาะปลูกและใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ควบคู่กันไป
นาข้าวและการปลูกพืชแบบยกร่อง 1
 
 
นาข้าวและการปลูกพืชแบบยกร่อง 2
 
          กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินงานพัฒนาพื้นที่บ้านยูโย ตำบลบางขุนทอง อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยขุดสระน้ำ ขนาดความจุ ๕๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร จำนวน ๔ แห่ง ก่อสร้างคูส่งน้ำ ๕ สาย ความยาว ๑,๘๙๐ เมตร ปรับปรุงคันกั้นน้ำ ๒ สาย ยาว ๕.๒๕ กิโลเมตร ก่อสร้างสะพานน้ำ (Flume) กว้าง ๑.๕ เมตร ลึก ๑.๒ เมตร ความยาว ๑๒.๓๓ กิโลเมตร ส่งน้ำจืดจากฝายสุไหงปาดีมาสนับสนุนโครงการและจัดทำระบบระบายน้ำเปรี้ยว โดยขุดคลองระบายน้ำ ๒ สาย ความยาวรวม ๑.๕๘๕ กิโลเมตร ระบายน้ำเปรี้ยวจากพรุโต๊ะแดงและบ้านยูโยไปลงคลองโคกไผ่ คลองลาน และทิ้งลงท้ายประตูระบายน้ำปูยูออกสู่ทะเลโดยตรง ไม่ต้องผ่านแม่น้ำบางนรา
          เมื่อปี ๒๕๔๐ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ได้สาธิตการปรับปรุงคุณภาพดินเปรี้ยวและสนับสนุนเกษตรกรให้ทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ในระยะแรก มีเกษตรกรเข้าร่วมทำนาพื้นที่รวม ๕๐๐ ไร่ เกษตรกร ๒๒ รายปลูกพืชแบบยกร่อง ๘๗๙ ไร่ เกษตรกรเข้าร่วม ๑๕๔ ราย วิธีการหลักคือปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้หินปูนฝุ่นปรับสภาพความเป็นกรด
          ปัจจุบันพื้นที่โครงการบ้านยูโย ๓,๕๐๐ ไร่ ได้รับการพัฒนาเต็มพื้นที่ สามารถใช้ประโยชน์ในการปลูกพืช โดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าว การปลูกพืชผสมผสานด้วยวิธีการขุดยกร่อง มีการปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา เลี้ยงปลา เกษตรกรมีผลผลิตพอเพียงต่อการบริโภคและนำไปจำหน่ายมีรายได้เพิ่มขึ้น มีอาชีพมั่นคง และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นตัวอย่างการปรับปรุงคุณภาพดินเปรี้ยวให้สามารถใช้เพาะปลูกได้ ให้แก่เกษตรกรบริเวณใกล้เคียง
แผนที่โครงการ
 
 

  กลุ่มนโยบายพิเศษ 
                    ๒๘  สิงหาคม  ๒๕๖๓

curve