รายละเอียดองค์ความรู้
องค์ความรู้เรื่อง อ่างเก็บน้ำบ่้านทรายนวล
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริกับ นายปราโมทย์ ไม้กลัด วิศวกรชลประทาน ๘ กรมชลประทาน เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๒๗ สรุปความว่าให้กรมชลประทานพิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบางทรายนวล ปิดกั้นลำน้ำบางทรายนวล ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของคลองชะอุ่น ให้สามารถมีน้ำใช้ทำไร่นาและทำสวน รวมทั้งมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี
อ่างเก็บน้ำบางทรายนวล
กรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนดินสูง ๓๒ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๖๔ เมตร ความจุ ๒.๒ ล้านลูกบาศก์เมตร และระบบส่งน้ำเป็นท่อเหล็ก, ท่อซีเมนต์ใยหิน, ท่อเหล็กอาบสังกะสี ขนาด ๓๐๐ มิลลิเมตร, ๒๕๐ มิลลิเมตร ๒๐๐ มิลลิเมตร และ ๑๐๐ มิลลิเมตร ความยาวรวม ๖,๔๕๐ เมตร พร้อมอาคารประกอบท่อส่งน้ำ จำนวน ๕๓ แห่ง ก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๒๙ แล้วเสร็จเมื่อปี ๒๕๓๑ สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่หมู่ ๒ และหมู่ ๓ ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้มีน้ำสำหรับทำการเกษตร พื้นที่ประมาณ ๓,๐๐๐ ไร่ และมีน้ำอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี
สภาพหมู่บ้านทับคริสต์
อ่างเก็บน้ำบางทรายนวล สร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือราษฎรบ้านทับคริสต์ ซึ่งเป็นราษฎรที่นับถือศาสนาคริสต์จากภาคกลาง แถบจังหวัดราชบุรีและสมุทรสงคราม ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ ตามนโยบายขยายพื้นที่ทำกินรองรับการเติบโตของประชากรของรัฐบาลในสมัยนั้น โดยได้รับการจัดสรรพื้นที่ทำกิน จำนวน ๕,๐๐๐ ไร่
เมื่อปี ๒๕๒๒ ประสบปัญหาภัยแล้งจากภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน ส่งผลให้พืชผลเสียหายอย่างรุนแรง ประกอบกับมีผู้อพยพย้ายถิ่นเข้ามาจับจองที่ทำกินเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทำให้ สระน้ำกลางหมู่บ้านขนาด ๑๐ ไร่ (ปริมาณน้ำ ๘๕,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร) มีน้ำไม่พอใช้ ราษฎรประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่องหลังจากมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบางทรายนวล และกักเก็บน้ำจนเต็มความจุ เมื่อปี ๒๕๓๔ ราษฎรขาดความรู้ในการใช้น้ำ ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำยังไม่พอใช้ในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากมีการใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง
สระน้ำประจำไร่นา
พื้นที่การเกษตร
สวนดอกไม้
เมื่อปี ๒๕๓๖ จึงมีการจัดตั้งกลุ่มบริหารจัดการน้ำ เป็นองค์กรบริหารจัดการของชุมชน โดยใช้วิธีกระจายน้ำแบบ “สระพวง” เพื่อให้มีน้ำใช้ทำการเกษตรได้ตลอดปี มีการจัดตั้งกองทุนดูแลรักษาท่อส่งน้ำ พัฒนาระบบกรองน้ำดื่มชุมชนเพื่อช่วยลดรายจ่ายในการซื้อน้ำบริโภค ใช้เทคโนโลยี เช่น แผนที่ ภาพถ่ายดาวเทียม เครื่องระบุพิกัด และสถานีโทรมาตรเพื่อเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำและวางแผนเพาะปลูก ผลผลิตที่โดดเด่น คือ ไม้ดอกไม้ประดับ ที่ช่วยยกระดับอาชีพรายได้ จนจัดตั้งเป็นกองทุนที่เข้มแข็ง เชื่อมโยงการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นตัวอย่างการบริหารจัดการน้ำที่ประสบผลสำเร็จให้แก่ชุมชนอื่นๆ
ฝายชะลอความชุ่มชื้น
นอกจากนี้ ราษฎรบ้านทับคริสต์ ยังได้ร่วมกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำโดยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น เพื่อช่วยดักตะกอนและรักษาความชื้นของป่าต้นน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำบางทรายนวล จัดทำระบบกระจายน้ำแบบ “สระพวง” เชื่อมกับแหล่งน้ำและกระจายน้ำผ่านคลอง ส่งน้ำไปเก็บไว้สระน้ำประจำไร่นา ๑๖๐ สระ ปริมาณเก็บน้ำรวม ๒๓๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร สระน้ำประจำไร่นาที่เชื่อมโยงกันในลักษณะเป็นเครือข่ายที่เรียกว่า “สระพวง” นี้ ได้ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมช่วงฤดูฝน และเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งอย่างพอเพียงในปัจจุบัน จากการร่วมแรงร่วมใจพัฒนาต่อยอดจากโครงการแหล่งน้ำที่ได้รับพระราชทาน
กลุ่มนโยบายพิเศษ
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๓