องค์ความรู้ "โครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่"

รายละเอียดองค์ความรู้

 

โครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่

            พื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีลักษณะเป็นที่ราบรูปแอ่งกระทะ เอียงลาดจากทิศใต้ด้านอำเภอสะเดา ชายแดนประเทศมาเลเซียขึ้นมาทางทิศเหนือ ติดกับทะเลสาบสงขลา มีภูเขาล้อมสามด้านทางทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตก มีพื้นที่ประมาณ ๒,๑๐๐ ตารางกิโลเมตร โดยมีตัวเมืองหาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงช่องแคบที่เป็นจุดรวมของลำน้ำสาขาคลองอู่ตะเภาตอนบน และเป็นจุดต่อเชื่อมกับลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาตอนล่างที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่ง

            ในฤดูมรสุมช่วงเดือน ตุลาคม - มกราคม จะมีฝนตกชุก จึงมักเกิดอุทกภัยสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วง ๑๙ - ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ และ๒๑ - ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของราษฎรอย่างมากเป็นมูลค่าสูงกว่า ๑๔,๐๐๐ ล้านบาท

 

น้ำท่วมอำเภอหาดใหญ่ เมื่อปี ๒๕๕๓

 

             พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๑ กับอธิบดีกรมชลประทาน ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา และมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๓ สรุปความว่า

             ...ให้กรมชลประทานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน และพื้นที่ธุรกิจในเขตอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๑ ได้เกิดอุทกภัยอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีสาเหตุสำคัญเนื่องจากปริมาณน้ำคลองอู่ตะเภาที่ไหลผ่านอำเภอหาดใหญ่ มีระดับสูงล้นตลิ่ง...

             ...การแก้ไขปัญหา ควรพิจารณาดำเนินการขุดคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ ให้ทำหน้าที่แบ่งน้ำจากคลองอู่ตะเภาหรือช่วยรับน้ำที่ไหลลงมาท่วมอำเภอหาดใหญ่ให้ระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาโดยเร็ว...สร้างคันกั้นน้ำรอบบริเวณพื้นที่ดังกล่าวพร้อมกับติดตั้งระบบสูบน้ำออกจากพื้นที่ไม่ให้ท่วมขังตามความจำเป็น ทั้งนี้ ให้พิจารณาร่วมกับระบบของผังเมืองให้มีความสอดคล้องและได้รับประโยชน์ร่วมกันด้วย...

            เมื่อปี ๒๕๓๒ กรมชลประทาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขุดลอกคลองอู่ตะเภา คลองอู่ตะเภาแยก ๑ คลองอู่ตะเภาแยก ๒ และคลองท่าช้าง - บางกล่ำ รวม ๔๖.๙ กิโลเมตร และเมื่อปี ๒๕๔๓ เกิดอุทกภัย จึงดำเนินการขุดคลองระบายน้ำเพิ่ม จำนวน ๗ สาย ระหว่าง ปี ๒๕๔๔ - ๒๕๕๐ สามารถระบายน้ำได้รวม ๑,๐๗๕ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

 

การขุดลอกคลองต่างๆ

 

            ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ ยังคงเกิดอุทกภัยอีก น้ำท่วมขังในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ประมาณ ๒ วันจึงได้ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพคลองระบายน้ำ และอาคารประกอบให้สามารถรองรับปริมาณน้ำที่ไหลหลากมาท่วมเมืองหาดใหญ่ได้โดยในปี ๒๕๖๓ ดำเนินการปรับปรุงคลอง ร.๑ ขุดขยายความกว้างของท้องคลองจาก ๒๔ เมตร เป็น ๗๐ เมตร ก่อสร้างประตูระบายน้ำหน้าควน ๒ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลลงคลอง ร.๑ พร้อมทั้งก่อสร้างกำแพงคอนกรีต สามารถระบายน้ำได้ ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ได้ในระยะยาว

 

ประตูระบายน้ำ

 

ประตูระบายน้ำหน้าควน

 

ประตูระบายน้ำปลายคลองระบายน้ำ ร.๓

 

 

แผนที่โครงการ


                                                                                                           กลุ่มนโยบายและแผน

๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๓

                                                                                                          

curve