รายละเอียดองค์ความรู้
โครงการป้องกันอุทกภัยเมืองชุมพร
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทราบปัญหาน้ำท่วมเมืองชุมพร เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๐ เนื่องจากพายุโซนร้อนชีต้า และทรงคาดการณ์ถึงภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงมีพระราชดำริให้กรมชลประทาน เร่งรัดการขุดคลองหัววัง - พนังตัก ความยาว ๑,๔๖๐ เมตร ให้แล้วเสร็จภายใน ๑ เดือน โดยให้ขุดจากปลายน้ำขึ้นไปหาต้นน้ำ เมื่อเกิดฝนตกหนัก คลองนี้จะได้รับน้ำไหลลงสู่ทะเลได้ทันที และพระราชทานทุนทรัพย์จากมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน ๑๘ ล้านบาท ให้กรมชลประทานยืมไปดำเนินการก่อน และอีกส่วนหนึ่งจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เพื่อใช้ก่อสร้างประตูระบายน้ำ ๓ แห่ง ซึ่งสามารถดำเนินการแล้วเสร็จ ใช้ระบายน้ำได้ในต้นเดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ทันกับสถานการณ์พายุฝนตกหนักอีกระลอกหนึ่งของปีนั้นพอดี
เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ มีพระราชดำรัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เกี่ยวกับโครงการป้องกันอุทกภัยเมืองชุมพร สรุปความว่า ให้หนองใหญ่ หนองน้ำธรรมชาติใกล้กับตัวเมืองชุมพร เป็นแก้มลิงธรรมชาติ เพื่อเป็นที่สำหรับรับน้ำจากคลองท่าแซะมาเก็บไว้ก่อนที่จะไหลลงสู่คลองท่าตะเภา และเมื่อมีปริมาณน้ำมากก็ค่อยๆ ระบายลงสู่ คลองหัววัง - พนังตัก เพื่อระบายออกสู่ทะเล และใช้เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งด้วย เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร และโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร มีพระราชดำริกับกรมชลประทาน
สรุปความว่า
๑. ควรพิจารณาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำปิดต้นคลองและปลายคลองที่ขุดในบริเวณหนองใหญ่ เพื่อเก็บน้ำไว้ให้ราษฎรใช้ทำการเกษตรในฤดูแล้ง
๒. ควรจัดตั้งสถานีวัดระดับน้ำเพิ่มเติมพร้อมระบบเตือนภัยบริเวณต้นน้ำคลองท่าแซะ เพื่อเร่งระบายน้ำจากหนองใหญ่ลงคลองหัววัง - พนังตัก ทิ้งลงทะเลเป็นการล่วงหน้า
๓. ควรพิจารณาขุดคลองหรือวางท่อเชื่อมระหว่างคลองท่าแซะกับคลองละมุ เพื่อชักน้ำจากคลองท่าแซะ ลงหนองใหญ่ ให้ราษฎรมีน้ำใช้ทำการเกษตรและอุปโภคบริโภค และในฤดูน้ำหลากสามารถช่วยผันน้ำบางส่วนจากคลองท่าแซะลงแก้มลิงหนองใหญ่ เพื่อระบายลงทะเลผ่านคลองหัววัง - พนังตัก
๔. ควรติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ ๑,๒ และ ๓ เพื่อช่วยสูบน้ำออกจากหนองใหญ่ลงคลองหัววัง - หนังตัก ทิ้งลงทะเลในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้ช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองชุมพร
๕. ควรศึกษาปริมาณน้ำท่าที่แน่นอนที่ไหลในคลองท่าตะเภา เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแก้ปัญหาอุทกภัยเมืองชุมพร
แก้มลิงหนองใหญ่
ประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์
ประตูระบายน้ำหัววัง
ประตูระบายน้ำท่าตะเภา ประตูระบายน้ำสามแก้ว
คลองหัววัง-พนังตัก ตัวเมืองชุมพร
กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินการสนองพระราชดำริอย่างครบถ้วน มีระบบบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยก่อนที่น้ำจะไหลผ่านเมืองชุมพรได้ใช้อาคารชลประทานต่างๆ และแก้มลิงหนองใหญ่เป็นจุดพักน้ำ ตัดยอดน้ำในคลองท่าแซะและผันน้ำจากคลองท่าตะเภาผ่านประตูระบายน้ำ และควบคุมปริมาณน้ำผ่านประตูระบายน้ำต่างๆ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจของเมืองชุมพร รวมทั้งเมื่อเกิดอุทกภัย จะใช้เครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายลงสู่ทะเล ทำให้สามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้อย่างรวดเร็ว โดยจะเห็นได้ว่าตั้งแต่มีการก่อสร้างระบบอย่างครบถ้วน ไม่เคยมีปัญหาน้ำท่วมเมืองชุมพรอีกเลย นับเป็นเวลากว่า ๒๐ ปีแล้ว
กลุ่มนโยบายพิเศษ
๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓