รายละเอียดองค์ความรู้
โครงการแหลมผักเบี้ย
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๓ สรุปความว่า ให้มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงาน กปร. กรมชลประทาน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกันศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับขยุมูลฝอยและน้ำเสียในชุมชน ซึ่งมีผลต่อการรักษาสภาพป่าชายเลนด้วยวิธีการทางธรรมชาติ และรักษาธรรมชาติ
ตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินงาน "โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย" ในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ประมาณ ๖๔๒ ไร่ ผลการดำเนินงาน สรุปดังนี้
๑. ก่อสร้างบ่อตกตะกอน ๑ บ่อ บ่อผึ่ง ๓ บ่อ บ่อปรับสภาพน้ำ ๑ บ่อ โดยแต่ละบ่อใช้เวลาบำบัดน้ำเสีย ๗ วัน
๒. จัดทำแปลงระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย ได้แก่ หญ้า สตาร์ หญ้าคาลล่า หญ้าโดสครอส และพืชอื่นๆ ได้แก่ ธูปฤาษี กกจันทรบูร หญ้าแฝก โดยใช้เวลาให้น้ำเสียไหลผ่าน ๕ วัน และปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ๒ วัน เพื่อให้จุลินทรีย์ในดินปรับสภาพ
๓. จัดทำระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม ลักษณะคล้ายกับแปลงระบบพืชกรองน้ำเสีย โดยใช้พืชน้ำ ๒ ชนิด คือ กกจันทบูร และธูปฤาษี
ระบบการบำบัดน้ำเสียมีการรวบรวมน้ำทิ้งในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ส่งน้ำโดยท่อมายังบ่อตกตะกอน แล้วปล่อยน้ำผ่านแปลงระบบพืชกรองน้ำเสีย ผ่านพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม และในขั้นตอนสุดท้าย จะปล่อยลงสู่ป่าชายเลนและไหลสู่ทะเล
๔. จัดทำแปลงพืชป่าชายเลน โดยให้น้ำทะเลไหลเข้าสู่แปลงป่าชายเลนในช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุดในรอบวัน และปิดประตูระบายน้ำขังน้ำทะเลไว้ แล้วปล่อยน้ำเสียเข้าไปในแปลงในอัตราส่วน ๑ ต่อ ๑๖ (น้ำเสีย ๑ ส่วน ต่อน้ำทะเล ๑๖ ส่วน) เพื่อการเจือจาง เร่งการตกตะกอน และพืชชายเลนช่วยดูดสารอาหารจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ของจุลินทรีย์ในดิน ทำให้ป่าชายเลนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
๕. ก่อสร้างบ่อกำจัดขยะ ในลักษณะกล่องคอนกรีตเป็นชั้นๆ โดยพื้นรองด้วยชั้นทรายละเอียดหน้า ๒๐ เซนติเมตร ใส่ขยะที่คัดแยกแล้ว ๖๖๐ กิโลกรัม ปิดทับดิน ๒๑๐ กิโลกรัม ชั้นสุดท้ายใส่ขยะ ๖๗๐ กิโลกรัม ปิดทับด้วยดิน ๗๓๐ กิโลกรัม ความหนา ๓๕ เซนติเมตร รดน้ำเพิ่มความชื้น ๑๐๐ ลิตร และรดน้ำทุกๆ ๗ วัน ครั้งละ ๓๐ ลิตร ใช้เวลาประมาณ ๒๐ วัน จะได้ปุ้ยหมักจากขยะโดยต้องทิ้งไว้อีก ๑๕ วัน เพื่อลดความชื้นจึงน้ำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้
เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ มีพระราชดำริเพิ่มเติม สรุปความว่า ให้ประสานบริษัท ปตท. เข้าไปศึกษาดูงานโครงการและพิจารณาสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ ซึ่งบริษัท ปตท. ได้สนองพระราชดำริโดยดำเนินการปลูกเสริมป่าชายเลนด้านหลังโครงการ รวม ๔๗๕ ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ชายเลนงอกใหม่ ๒๐๐ ไร่ พื้นที่แปลงปลูกเสริมป่าชายเลน ๒๗๕ ไร่ และพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมดทรม บ้านพะเนิน ๔๐๐ ไร่
โครงการแหลมผักเบี้ย เป็นต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียโดยวิธีการ "ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ" เพื่อเผยแพร่สู่ประชาชนที่สนใจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ มีงานศึกษาวิจัยที่เป็นองค์ความรู้เผยแพร่เป็นจำนวนมาก
กลุ่มนโยบายพิเศษ
๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๓