รายละเอียดองค์ความรู้
เพชรบุรี
บรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรี
เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ มีพระราชดำริ สรุปความว่า ให้กรมชลระทานพิจารณาปรับปรุงคลองชลประทานในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ซึ่งทำหน้าที่เป็นคลองส่งน้ำให้เป็นคลองระบายน้ำได้เมื่อเกิดอุทกภัย และให้พิจารณาก่อสร้างอาคารระบายน้ำ คันกั้นน้ำเค็ม โครงการส่งน้ำละบำรุงรักษาเพชรบุรีให้เหมาะสมเป็นอาคารไม่ใหญ่โตแต่สามารถระบายน้ำได้ดี
เนื่องจากแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักที่รับน้ำและระบายน้ำจากลำน้ำต่างๆ ลงสู่ทะเลมีสภาพตื้นเขิน บางช่วงถูกรุกล้ำทำให้แคบลง บางช่วงถูกเปลี่ยนสภาพจากการดูดทรายและสร้างพนังกั้นน้ำ นอกจากนี้คลองธรรมชาติสายต่างๆ ที่เป็นทางระบายน่้ำลงสู่ทะเลมีขนาดเล็กและตื้นเขิน บางช่วงมีการบุกรุกคลองเชื่อมระหว่างประตูระบายน้ำและคันกั้นน้ำเค็ม
แม่น้ำเพชรบุรี
คลองส่งน้ำ
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว กรมชลประทาน จึงได้ทำเป็นโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มเพชรบุรีตอนล่าง โดยดำเนินการ ดังนี้
- ปรับปรุงคลองระบายน้ำ D๑ เพื่อเพิ่มอัตราการระบายน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณเหนือเขื่อนเพชรลงคลองระบายน้ำ D๑
- ปรับปรุงคลองระบายน้ำ D๙ เพื่อเพิ่มอัตราการระบายน้ำลงสู่ทะเล
- ปรับปรุงแม่น้ำเพชรบุรี ให้สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากที่เหนือเขื่อนเพชร ที่ ๘๐๐ ลูกบาศก์เมตร/วินาที
- จัดทำทางระบายน้ำล้นคันคลองชลประทาน ๒๗ แห่ง
- ขุดลอกคลองธรรมชาติและคลองระบายน้ำฝั่งขวา ของแม่น้ำเพชรบุรี ๒๖ สาย
- ขุดขยายคลองระบายน้ำสายใหญ่ ๖ สาย (ฝั่งขวา) คลองD๙ คลอง D ๑๘ และคลองบางทะลุ
- ขุดลอกคลองธรรมชาติและคลองระบายน้ำ (ฝั่งซ้าย) ๑๓ สาย
นอกจากนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อป้ปงกันน้ำท่วมพื้นที่เทศบาลเพชรบุรี ระยะทาง ๑๖๕ เมตร บริเวณที่แม่น้ำเพชรบุรีล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนราษฎรเป็นประจำ สามารถป้องกันการกัดเซาะตลิ่งและป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่วิกฤติของเทศบาลเมืองเพชรบุรี และป้องกันความเสียหายต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎร ประมาณ ๒๒,๙๐๑ คน พื้นที่ประมาณ ๓,๓๗๕ ไร่
กลุ่มนโยบายพิเศษ
๒๙ เมษายน ๒๕๖๓