"องค์ความรู้จากโครงการโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่ากุยบุรี"

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้จาก "โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่ากุยบุรี"

           พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๐ ให้อนุรักษ์และฟื้นฟูป่ากุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมีพระราชดำริเพิ่มเติมอีกหลายครั้งในช่วงปี ๒๕๔๑ - ๒๕๔๒ สรุปสาระสำคัญให้ปลูกป่าโดยปล่อยให้ขึ้นเองตามธรรมชาติ ปลูกพืชอาหารสัตว์โดยเฉพาะช้างป่า ปลูกป่าโดยนำเมล็ดพันธุ์พืชโปรยหว่านทางอากาศ ปลูกพืชโดยจ้างชาวบ้าน ปลูกพืชโดยให้ทหารที่มีหน้าที่ลาดตระเวนนำเมล็ดพันธุ์พืชเข้าไปปลูกในป่าลึกๆ พัฒนาแหล่งน้ำในรูปแบบต่างๆเพื่อฟื้นฟูป่าและให้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์ พัฒนาที่ดินโดยใช้หญ้าแฝก

สภาพป่าในปัจจุบัน

          หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินงาน โดยกำหนดพื้นที่โครงการบริเวณป่ากุยบุรีเหนืออ่างเก็บน้ำยางชุม ประมาณ ๒๒๘,๖๕๖ ไร่ มีพื้นที่การเกษตรของราษฎร ๓ หมู่บ้าน คือ บ้านรวมไทย บ้านพุบอน และบ้านย่านซื่อตำบลหาดขาม

         การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ก่อสร้างฝายชะลอน้ำ ๑,๕๑๑ แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ๙ แห่ง ปลูกป่าประมาณ ๑๘,๐๐๐ ไร่ โปรยหว่านเมล็ดพันธุ์พืช เช่น มะขาม มะเกลือ กระถิน ตามเส้นทางเดินของช้างป่า ระยะทาง ๔๘ กิโลเมตร ปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ ๔,๐๐๐ ไร่ และฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.)

ฝายชะลอน้ำ

          การส่งเสริมพัฒนาอาชีพ ขุดสระน้ำประจำไร่นา ความจุ ๑,๒๖๐ ลูกบาศก์เมตร ๓๐ แห่ง ปลูกหญ้าแฝกในลักษณะจ้างงาน ๗๐,๐๐๐ กล้า ปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ ๒๐๐ ไร่ ปลูกพืชแบบผสมผสานและเลี้ยงไหม ๓๒ ราย ปลูกผักปลอดสารพิษ ๒๐ ราย ในพื้นที่ ๑๐๐ ไร่ ปลูกพืชอาหารสัตว์ ๙ ราย ในพื้นที่ ๑๐๕ ไร่ ส่งเสริมการเลี้ยงแพะ ๕๐ ราย แจกพันธุ์ปลา ๒๐ ราย


การปลูกหญ้าแฝก

          ผลการดำเนินงานโครงการ ทำให้ราษฎรมีความเข้าใจและมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่า และลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากช้างป่าออกมากินพืชผลของราษฎร

          องค์ความรู้ที่ได้จากผลการดำเนินงานโครงการ ได้แก่

           ๑. การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก
           ๒. 
การฟื้นฟูป่าโดยฝายชะลอน้ำ
           ๓. 
การพัฒนาที่ดินโดยใช้หญ้าแฝก
           ๔. 
การปลูกป่าโดยการหว่านโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ
           ๕. 
การแก้ปัญหาช้างป่ามากินพืชผลของราษฎร
 

การโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ
 

แปลงพืชอาหารช้างป่า

การพัฒนาอาชีพราษฎร

 


  กลุ่มนโยบายพิเศษ
                                         ๓๑  มกราคม  ๒๕๖๓ 

curve