"องค์ความรู้จากโครงการลุ่มน้ำน่าน"

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้จาก"โครงการลุ่มน้ำน่าน"

           โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงลุ่มน้ำน่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดน่าน เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริกับแม่ทัพภาค ๓ เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๓๒ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้พิจารณาช่วยเหลือชาวเขาและผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยเฉพาะบริเวณบ้านป่ากลาง อำเภอปัว บ้านน้ำรีพัฒนา บ้านสบมาง อำเภอบ่อเกลือ และหมู่บ้านต่างๆ บริเวณแนวชายแดน

สภาพทั่วไปเมื่อเริ่มโครงการ 

 

            กองทัพภาคที่ ๓ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินงานพัฒนา ในลักษณะโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำน่านเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ชายแดน ราษฎรขาดบริการพื้นฐาน คุณภาพชีวิตอยู่ในระดับต่ำทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายตรงข้ามนำไปโฆษณาชวนเชื่อโจมตีอยู่เสมอ

การพัฒนาแหล่งน้ำ

 

             ในระยะแรก ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยก่อสร้างฝายที่บ้านน้ำรีพัฒนา สร้างระบบประปาภูเขาบ้านสบมาง อำเภอบ่อเกลือ, พัฒนาเส้นทางสายบ้านน้ำยาว - บ้านห้วยโก๋น, พัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ในลักษณะชนบทแบบผสมผสานควบคู่กับการปฏิบัติการทางทหารเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน ด้วยวิธีการกระตุ้นให้ประชาชนเกิดพลังรวมตัวเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา จัดระบบการปกครองป้องกันตนเอง ป้องกันหมู่บ้าน จนถึงการป้องกันประเทศ, จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรที่บ้านน้ำรีพัฒนา ส่งเสริมอาชีพโดยการปลูกพืช ๔๘๕ ราย พื้นที่ ๒,๐๐๓ ไร่ เลี้ยงปศุสัตว์ ๒๕๑ ราย จำนวน ๑,๖๙๓ ตัว จัดหาวัสดุการเกษตรและเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์

            ต่อมามีการขยายพื้นที่ดำเนินการในพื้นที่อำเภอแม่จริม โดยมีการจัดระเบียบชุมชน ส่งเสริมอาชีพการเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่ป่าธรรมชาติ พัฒนาแหล่งน้ำ เส้นทางคมนาคม ส่งเสริมธนาคารอาหารชุมชน ผลิตปุ๋ยอินทรีย์จัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ปลูกหญ้าแฝก ส่งเสริมการปลูกเห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดโคน การทำถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด เป็นต้น

สหกรณ์การเกษตร

การปลูกพืช - เลี้ยงสัตว์ 

การทำถ่านจากซังข้าวโพด

การฟื้นฟูป่า


การปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ

           ผลการดำเนินงานทำให้เกิดความมั่นคงบริเวณชายแดน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ ป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และฟื้นฟูป่าให้คืนความอุดมสมบูรณ์

          จากผลการดำเนินงาน มีองค์ความรู้ที่สามารถนำมาขยายผล ดังนี้

  1. ยุทธศาสตร์พัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาขัดแย้งโดยสันติวิธี
  2. การพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคง
  3. การพัฒนาหมู่บ้านด้วยวิธีสหกรณ์
  4. การพัฒนาอาชีพในพื้นที่สูงในลักษณะคนอยู่ร่วมกับป่า
  5. การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ
  6. การจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ

 


  กลุ่มนโยบายพิเศษ
                                                                                                           ๒๕  ตุลาคม  ๒๕๖๒

curve