องค์ความรู้เรื่อง "ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง"

รายละเอียดองค์ความรู้

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง

           พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้จัดตั้ง โครงการหลวงเพื่อช่วยเหลือ ยกระดับอาชีพ รายได้ คุณภาพชีวิต ของชาวเขาให้ดีขึ้น รวมทั้งเพื่อกำจัดการปลูกฝิ่นและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง โดยเริ่มจากการศึกษาทดลอง พันธุ์พืชเขตหนาว เมื่อได้ผลแล้วพระราชทานพันธุ์ส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกทดแทนพืชเสพติด ได้แก่ แอปเปิ้ล ท้อ พลับ ถั่วแดงหลวง รวมทั้งพันธุ์สัตว์ต่างๆ ได้แก่ วัวพันธุ์บรามันห์ ห่าน และแกะ เป็นต้น ซึ่งเป็นการให้ชาวเขายืมพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์เหล่านี้ไปทดสอบถ้าได้ผลก็ให้นำมาคืน

ร.๙ เสด็จฯ ทอดพระเนตรการปลูกกาแฟ

          เมื่อปี ๒๕๑๒ เริ่มจัดตั้งสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง บริเวณหุบเขาดอยอ่างขาง ตำบลม่อนปิน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทดลองปลูกพืชเขตหนาวที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่สูงของประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนพันธุ์พืชจากสหรัฐฯ ไต้หวัน และมิตรประเทศต่างๆ

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

การสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ, สหรัฐฯ และไต้หวัน

การปลูกไม้ผล และพืชผักเมืองหนาว

          ในระยะแรกไม่มีเจ้าหน้าที่ไปอยู่ประจำในหมู่บ้านชาวเขา แต่ใช้วิธีให้หน่วยงานจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมเยียนเพื่อให้คำแนะนำในการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เป็นประจำทุกสัปดาห์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และกรมวิชาการเกษตร ซึ่งส่งเสริมการปลูกกาแฟอราบิก้าร่วมกับศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา

          องค์กร/หน่วยงานต่างประเทศที่เข้ามาสนับสนุนโครงการหลวง ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ สนับสนุนงบประมาณในการปลูกพืชทดแทนฝิ่น กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ สนับสนุนทุนวิจัยการปลูกไม้ผลและพืชผักเขตหนาว เช่น กาแฟ ชา ไม้ตัดดอก สตรอเบอรี เห็ดหอม ไหมป่า พืชย้อมสี มันฝรั่ง หอมหัวใหญ่ ธัญพืช สมันไพร เฟิร์น เก๊กฮวย พืชน้ำมัน การปรับปรุงพันธุ์ข้าวไร่ เป็นต้น ไต้หวันสนับสนุนพันธุ์พืช ได้แก่ สาลี่ ท้อ บ๊วย พลัม พลับ วอลนัท เห็ดหูหนู ตังกุย เก๊กหวย ดอกไม้จีน ไม้โตเร็ว นอกจากนี้ยังสนับสนุนนักวิชาการ และการจัดไปศึกษาดูงาน และฝึกงานที่ฟาร์มและสถานีบนภูเขาของไต้หวันด้วย

          โครงการหลวงแต่ละแห่งครอบคลุมพื้นที่ ๔ - ๙ หมู่บ้าน เช่น โครงการหลวงแม่แฮ โครงการหลวงทุ่งหลวง โครงการหลวงแม่ปูนหลวง โครงการหลวงปางอุ๋ง โครงการหลวงแม่ลาน้อย เป็นต้น

          ปัจจุบัน ดำเนินงานในพื้นที่ภาคเหนือ ๘ จังหวัด มีสถานีวิจัยหลัก ๔ สถานี ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ดอยอินทนนท์ ปางดะ และแม่หลอด และสถานีส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนพืชเสพติด เรียกว่า ศูนย์พัฒนาโครงการกว่า ๓๐ แห่ง

 

 


กลุ่มนโยบายพิเศษ
                                                                                                            ๔  ตุลาคม  ๒๕๖๒

curve