"องค์ความรู้จากโครงการห้วยบางทราย"

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้จาก"โครงการห้วยบางทราย"

พื้นที่โครงการในปัจจุบัน

           โครงการห้วยบางทราย หรือ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทราย อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความเสื่อมโทรมจากปัญหาการสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐกับประชาชนที่มีความขัดแย้งด้านลัทธิอุดมการณ์ทางการเมืองและความเป็นธรรมทางสังคม พื้นที่เดิมเป็นป่าในหุบเขาที่กองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ ใช้สภาพภูมิประเทศที่เป็นเพิงผา เป็นที่หลบภัยทางอากาศ ซึ่งฝ่ายรัฐได้ใช้อากาศยานเข้าโจมตีฐานที่มั่นบริเวณนี้ อย่างต่อเนื่อง

             ต่อมาเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศและการสู้รบคลี่คลายลง สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ได้เข้ามอบตัวโดยเปลี่ยนสถานภาพมาเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” จึงได้มีการนำแนวพระราชดำริยุทธศาสตร์พัฒนามาดำเนินการ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริ สรุปความว่า ให้พัฒนาอาชีพ ศิลปาชีพ อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ ในลักษณะการพัฒนาพื้นที่เบ็ดเสร็จและจัดการพื้นที่เพาะปลูกให้เป็นลักษณะโครงการสหกรณ์

            ผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ เป็นต้นมา ได้ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอดงหลวง และอำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำ ๗ แห่ง อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด มีการดูแลรักษาป่าต้นน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ประมาณ ๘๒,๐๐๐ ไร่ ให้เป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยต่างๆ ทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน มีการฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดิน อนุรักษ์ดินและน้ำอย่างต่อเนื่อง มีการฝึกอบรมอาชีพการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ประมง ศิลปาชีพ หัตถกรรมต่างๆ ทำให้เกิดความรู้ทักษะในการประกอบอาชีพ มีอาชีพรายได้ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งมีความรู้ประสบการณ์ในการบริหารจัดการสหกรณ์ ทำให้มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน จากการออกเอกสารสิทธิ ... ๔ - ๐๑ และ สทก. พิเศษ

กิจกรรมฟื้นฟูป่า

การพัฒนาการเกษตร

การเลี้ยงสัตว์


การประมง

ร.ร.ตชด.การท่าอากาศยาน

           นอกจากนี้ อ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ซึ่งมีความจุน้ำ ๑๐.๕ ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำเหลือ ยังสามารถส่งน้ำ ผ่านอุโมงค์ผันน้ำไปช่วยเหลือพื้นที่แห้งแล้งในเขตอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ สนับสนุนพื้นที่การเกษตร ได้ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ไร่ อีกด้วย
 

อ่างฯ ห้วยไผ่และอุโมงค์ผันน้ำ

           จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถนำองค์ความรู้ไปขยายผล ดังนี้

                           1. ยุทธศาสตร์พัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรง
                           2. การพัฒนาพื้นที่เบ็ดเสร็จ
                           3. การพัฒนาลักษณะโครงการสหกรณ์
                           4. การฟื้นฟูและพัฒนาป่าไม้
                           5. การปรับปรุงดินและอนุรักษ์ดินและน้ำ
                           6. การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบครบวงจร

 


  กลุ่มนโยบายพิเศษ
                                       ๒๐  กันยายน  ๒๕๖๒

 

 

 

 

curve