"องค์ความรู้จากโครงการลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง"

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้จาก"โครงการลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง"

          โครงการลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง หรือ โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ โดยในระยะแรกเป็นการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎร การพัฒนาแหล่งน้ำโดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝายต้นน้ำลำธาร บ่อน้ำบาดาล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ถนน ไฟฟ้า พัฒนาอาชีพการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพหัตถกรรม เช่น ทอผ้า แกะสลัก เป็นต้น ทำให้ราษฎรได้รับความสะดวกสบายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการประเมินผลโครงการเมื่อปี ๒๕๔๑ พบว่า ราษฎรในพื้นที่โครงการมีรายได้เฉลี่ย ๗๐,๐๐๐ บาท/ครัวเรือน/ปี นับว่าสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาความยากจนโดยมีฐานะทางเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนดีขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ยังมีปัญหาการเปิดป่าขยายที่ทำกินเพิ่มขึ้น มีการใช้น้ำจากระบบชลประทานอย่างไม่ถูกต้อง และมีปัญหาการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำนวนมาก

          เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๘ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่โครงการและมีพระราชดำริ ความว่า

          “อ่างเก็บน้ำมีน้ำเหลือน้อย สภาพป่าต้นน้ำลำธารแห้งแล้งมาก ให้ช่วยทำการป้องกันรักษาป่า และพัฒนาป่าไม้ให้มากๆ เพื่อจะได้เป็นป่าต้นน้ำชั้นดี เพื่อให้ราษฎรมีน้ำใช้เพียงพอตลอดไป”

          หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันสนองพระราชดำริ โดยมีแผนแม่บทกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกัน มีองค์กรดำเนินงานโครงการในระดับพื้นที่ โดยล่าสุดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เป็นอนุกรรมการ และหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการอย่างต่อเนื่อง

          ปัจจุบัน มีการพัฒนาแหล่งน้ำ ๒๒ แห่ง ความจุรวม ๑๑.๘๒ ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำพอเพียงในการอุปโภคบริโภคและใช้เพื่อการเกษตร มีความมั่นคงของที่ดินอยู่อาศัยและทำกิน โดยส่วนมากถือครองที่ดินมากกว่า ๑ แปลง เฉลี่ย ๑๑.๘๔ ไร่/ครัวเรือน สามารถกันแนวเขตป่ากับพื้นที่ทำกินได้ชัดเจน มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเป็นป่าชุมชน ใช้ประโยชน์เป็นแหล่งอาหารและไม้ใช้สอย ปลูกป่า ๙,๐๕๐ ไร่ ฟื้นฟูต้นน้ำ ๔๑๐ ไร่ ปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าลดลงเหลือเพียงไม่กี่ราย สำหรับการยกระดับฐานะความเป็นอยู่ มีรายได้เฉลี่ย ๓๖๓,๘๘๖ บาท/ครัวเรือน/ปี นับว่าสูงกว่าเมื่อปี ๒๕๔๑ มาก นอกจากนี้ภาพรวมโดยทั่วไป มีสภาพบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรง มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถไถ เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาอยู่บ้าง ในเรื่องของหนี้สิน โดยมีรายจ่ายที่สำคัญ คือ ค่าปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง นอกจากนี้มีการเปลี่ยนแปลงจากการเกษตรแบบผสมผสานเป็นการปลูกลำไยอย่างเดียวมากขึ้น อาจจะทำให้เกิดปัญหาการใช้น้ำในอนาคต

 

บ้านเรือนราษฎรและพื้นที่ทำกิน

  

 

                            

 

อ่างเก็บน้ำ

    

    

 

กิจกรรมปลูกป่า, ดับไฟป่า

    

    

 

สวนลำไย

                                       

 

 


กลุ่มนโยบายพิเศษ
           ๑๖  สิงหาคม  ๒๕๖๒

curve