อุโมงค์ผันน้ำ

รายละเอียดองค์ความรู้

เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ พระราชทานพระราชดำริให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยัง และขยายระบบส่งน้ำของอ่างเก็บน้ำลำพะยังพร้อมทั้งให้พิจารณาขุดสระน้ำประจำไร่นาตามแนวทฤษฎีใหม่ และเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ซึ่งอยู่ทางฟากจังหวัดมุกดาหารมาเติมให้แก่ อ่างเก็บน้ำลำพะยังเพื่อขยายพื้นที่รับน้ำชลประทานได้มากขึ้น ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม สรุปความว่าให้รีบดำเนินการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่มายังพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยัง และให้พิจารณาดูว่าพื้นที่ที่จะส่งน้ำออกจากอุโมงค์ว่ามีพื้นที่ว่างหรือไม่ ให้ดำเนินการปลูกป่าโดยทำเป็นอุทยานเล็กๆ เพื่อทดแทนผลกระทบที่จะเกิดกับป่าไม้ เพราะหากไม่ดำเนินการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่นั้น ราษฎรก็จะบุกรุกป่าและทำลายพื้นที่ลุ่มน้ำ ๑ เอ จนหมดและน้ำที่ออกมาก็ให้พิจารณาว่าจะนำไปช่วยพื้นที่ลุ่มน้ำ ๑ เอ ในการบำรุงรักษาป่าให้เกิดความชุ่มชื้นได้มากเพียงใด ตัวอย่างเช่น โครงการลำตะคองพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติยังทำได้เพราะทำแล้ว ได้ประโยชน์มาก

ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๔๖ - พ.ศ. ๒๕๔๙ กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่   อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร มายังพื้นที่ทำการเกษตรของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนฯ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ประกอบด้วย 

• อุโมงค์ลอดภูเขายาว ๗๑๐ เมตร
• ขุดร่องชักน้ำยาว ๗๕๐ เมตร
• วางท่อผันน้ำยาว ๑,๘๖๐  เมตร
• ก่อสร้างถังพักน้ำ ๑ แห่ง
              ปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำเข้าแปลงจำนวน ๑๒ สาย ระยะทางรวม ๓๓.๕๓๘กิโลเมตร ในวงเงินงบประมาณ ๑๖๔ ล้านบาท ใช้เวลาในการก่อสร้าง ๒ ปี (ปีพ.ศ. ๒๕๔๙ -พ.ศ. ๒๕๕๐) ทั้งนี้ภายในเดือนเมษายน ๒๕๕๐ จะก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำให้แล้วเสร็จก่อนเป็นระยะทาง ๘.๓ กิโลเมตร เพื่อส่งน้ำให้ราษฎรได้ใช้ในฤดูแล้ง ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นี้ จำนวน ๓,๑๓๐ไร่ จากพื้นที่รับประโยชน์ทั้งหมดของการผันน้ำเพิ่มเติม ๑๒,๐๐๐ ไร่
              สรุป เมื่อก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแล้วเสร็จจะทำให้พื้นที่ฝั่งโครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยัง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่รับประโยชน์ ๔,๖๐๐ไร่ เมื่อได้น้ำจากอุโมงค์ผันน้ำจะเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ได้อีก ๑๒,๐๐๐ ไร่ รวมพื้นที่รับประโยชน์ทั้งหมด ๑๖,๖๐๐ ไร่
แนวทางการดำเนินงานต่อไป 
1. เตรียมการจัดตั้งคณะทำงานบริหารจัดการน้ำข้ามลุ่มน้ำระหว่างลุ่มน้ำห้วยบางทราย และลุ่มน้ำลำพะยัง เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่โครงการทั้งฝั่งจังหวัดมุกดาหารและฝั่งจังหวัดกาฬสินธุ์ได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน และเพื่อให้การบริหารจัดการผันน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด                     
2.จัดตั้งศูนย์บริการและประสานงานโครงการขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีบุคลากรด้านการเกษตรประจำศูนย์เพื่อบริหารราษฎรประจำในพื้นที่
3.ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรและส่งเสริมด้านการตลาด   
4.มุ่งเน้นการถ่ายทอดความรู้สู่ราษฎร โดยให้ประสานปราชญ์ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่เป็นแกนนำในการขยายผลการมีส่วนร่วมในชุมชน 

curve