องค์ความรู้เรื่อง "โครงการหุบกระพง"

รายละเอียดองค์ความรู้

โครงการหุบกะพง - ดอนขุนห้วย


พื้นที่หุบกะพง ระยะแรกเริ่ม

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษาวิเคราะห์ดินดังปรากฏในเอกสาร “Soil Dev การพัฒนาดิน” ที่พระราชทานแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับปัญหาดินของโครงการหุบกะพง - ดอนขุนห้วย จ.เพชรบุรี สรุปว่า : ดินทราย มีแร่ธาตุน้อย ดินดาน ขาดน้ำ ต้นเหตุของปัญหามาจาก มีการทำลายป่าไม้ เมื่อเริ่มพัฒนาพื้นที่มีสภาพคล้ายศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี


ร.9 เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร จ.เพชรบุรี เมื่อปี 2507

 

          เมื่อปี ๒๕๐๗ เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มชาวสวนผักชะอำ จำนวน ๘๓ ครอบครัว ซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ในการประกอบอาชีพจึงทรงรับกลุ่มเกษตรกรนี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพระราชทานเงินให้กู้ยืมไปลงทุน จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาไม่มีผู้ใดสามารถนำเงินที่กู้ยืมไปมาคืนได้ เนื่องจากเกษตรกรเหล่านี้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่ดินของกรมประชาสงเคราะห์ เฉลี่ยครอบครัวละไม่เกิน ๒ ไร่ ไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ อดีตองคมนตรี ไปจัดหาที่ดินในเขต จ.เพชรบุรี และจ.ประจวบคีรีขันธ์ มาจัดสรรให้แก่เกษตรกร

          ขณะนั้น รัฐบาลอิสราเอล โดย เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ขอทราบหลักการของโครงการและอาสาช่วยเหลือในด้านผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ จึงได้มีการทำสัญญาร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอล โดยเริ่มโครงการ เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๐๙ ให้ชื่อว่า “โครงการไทย - อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบท (หุบกะพง)”


ข่าวหนังสือพิมพ์ พระราชทานที่ดินแก่เกษตรกร

          พื้นที่โครงการเดิมเป็นป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ มีราษฎรเข้าไปจับจองอยู่บ้าง แต่ทำกินไม่ค่อยได้ผล เพราะดินไม่ดีและขาดแคลนน้ำ การทำกินจึงเป็นไปในลักษณะไร่เลื่อนลอย ย้ายที่ทำกินทุก ๓ - ๔ ปี จึงมีพระราชดำริให้กันพื้นที่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ไร่ ออกจากพื้นที่ป่า โดยทรงจับจองที่ดินตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วนำมาจัดให้ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนและมีความขยันหมั่นเพียรแต่ขาดแคลนที่ทำกิน เข้าอยู่อาศัยและทำประโยชน์ต่อไป

 


กลุ่มนโยบายพิเศษ
         ๑๔  มิถุนายน  ๒๕๖๒

curve