องค์ความรู้เรื่อง " โครงการที่ดิน ต. บ้านพริก อ.บ้านนา จ.นครนายก "

รายละเอียดองค์ความรู้

 

โครงการที่ดิน ต.บ้านพริก อ.บ้านนา จ.นครนายก

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษาวิเคราะห์ปัญหาดิน ในเอกสาร “Soil Dev การพัฒนาดิน” ที่พระราชทานแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับโครงการที่ดิน ต.บ้านพริก อ.บ้านนา จ.นครนายก ว่ามีสภาพใกล้เคียงกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อ.เมือง จ.นราธิวาส คือ ดินเปรี้ยว มีสภาพเป็น “พรุ” เก่า ดินประกอบด้วยพืช ที่ทับถมลงมาเป็นเวลานาน และผสมกับน้ำทะเล มีผลให้เป็นดินที่มีแร่กำมะถัน เมื่อสัมผัสกับอากาศก็กลายเป็นออกไซด์ และเมื่อผสมกับน้ำก็กลายเป็นกรดกำมะถันทำให้ดินเปรี้ยว

พื้นที่โครงการระยะแรก

          นอกจากนี้ ยังมีสภาพใกล้เคียงกับโครงการวัดมงคลชัยพัฒนา อ.เมือง จ.สระบุรี ซึ่งมีสภาพเป็นดินทราย ดินเค็ม แห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ

          โดยสรุป พื้นที่โครงการนี้ มีทั้งปัญหา ดินเปรี้ยว น้ำท่วม และน้ำแล้ง

          ทรงเล่าถึงเรื่องเดิมว่า ท่านผู้หญิงยศวดี บูรณะสัมฤทธิ์ อัมพรไพศาล มาเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานน้ำสังข์ อายุครบ ๘๔ ปี เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๐ และถวายที่ดิน ๕๐ ไร่ เพื่อทรงใช้ตามพระราชอัธยาศัย เป็นที่ดินว่างเปล่าที่มีความสมบูรณ์ต่ำ (ปลูกข้าวไม่เกิน ๑๐ ถัง/ไร่) สาเหตุมาจากเป็น “พรุ” เก่า มีส่วนผสมใกล้เคียงกับดินที่ศูนย์ฯ พิกุลทอง เว้นแต่แห้งกว่า



ท่านผู้หญิงยศวดี อัมพรไพศาล เข้าเฝ้าฯ เมื่อ 19 มีนาคม 2540

สระน้ำและท่อน้ำ

การเอาหน้าดินเกลี่ยมาทับตอนบนหนา 50 - 70 ซม.

          วิธีแก้ไข วิธีปกติควรหาแหล่งน้ำมาเพื่อสามารถทำการเพาะปลูกตลอดปี ซึ่งทำให้ความเปรี้ยวลดลง แต่สมรรถนะของดินต่ำ จึงเชื่อว่าจะใช้เวลาหลายปี และค่าใช้จ่ายสูง และจะกระทบกระเทือนผู้อื่น วิธีก้าวหน้า ขุดสระ ใน ๕ ของพื้นที่

           ก.) หา หรือ ปรับปรุง น้ำ

          เริ่มต้นด้วยการขุดสระสองสระพื้นที่รวม ๑๕ ไร่ ลึก ๔ เมตร เท่ากับ ๙๖,๐๐๐ ลบม. (ความจริงควรเป็น ๑๐ ไร่ เท่ากับ ๖๔,๐๐๐ ลบม.) ด้วยจุดประสงค์จะเก็บน้ำฝนที่ตกในที่นั้นเอง (ฝนปี ๑,๓๐๐ มม. คูณ ๕๐ ไร่ เท่ากับ ๑๐๔,๐๐๐ ลบม. ) นอกจากนี้ ในฤดูกาลน้ำหลากมีน้ำท่วมในระดับ ๘๐ เซนติเมตร จึงทำท่อเพื่อนำน้ำนั้น เข้ามาในสระหากมีความจำเป็นดินที่ขุดมาได้ นำมาถมพื้นที่ที่เหลือเพื่อให้พ้นน้ำท่วม ในอนาคต จะสามารถใช้สระเป็นบ่อพักน้ำจากเขื่อนป่าสักหรือแหล่งน้ำอื่น

          ข.) ปรับปรุง ดิน

        ดินที่ขุดมาจากสระ ส่วนบน (ประมาณ ๕๐ ซม.) เป็นดินพอใช้ได้จึงต้องถากไปกองไว้ต่างหาก และจะต้องถากดินส่วนอื่นของพื้นที่ไปกองไว้ต่างหากเช่นกัน เมื่อขุดดินล่างของสระ มาถมพื้นที่ใดแล้วก็นำดินผิวบนนั้นมาทับดินที่ขุดมาถม ดินทั่วบริเวณจึงจะพอใช้ได้ (เลวน้อย)

         ค.) เลือกกิจการ (พืช สัตว์เลี้ยง)

         เริ่มด้วยหญ้า ข้าว พืชไร่ ไม้ยืนต้น ในสระเลี้ยงปลา เหนือสระเลี้ยงหมู เป็ด ไก่

 


กลุ่มนโยบายพิเศษ
         ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒

curve