"องค์ความรู้จากโครงการวัดมงคลชัยพัฒนา"

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้จาก"โครงการวัดมงคลชัยพัฒนา"

ร.๙ เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านกุดสิม ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ เมื่อปี ๒๕๓๕

          โครงการวัดมงคลชัยพัฒนา จ.สระบุรี เป็นโครงการทดลองเพื่อแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งหรือขาดแคลนน้ำทำให้ทำนาไม่ได้ผล ซึ่งทรงทราบปัญหาจากการเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่บ้านกุดตอแก่น อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ดังพระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕ ตอนหนึ่ง ความว่า

          “…เราก็ไปดูข้าว ข้าวนั้นมีรวงจริงแต่ไม่มีเม็ด หรือรวงหนึ่งมีสักสองสามเม็ด ก็หมายความว่าไร่หนึ่ง คงได้ประมาณสักถังเดียว หรือไม่ถึงถังต่อไร่ ถามเขาทำไมเป็นเช่นนี้ เขาก็บอกว่าเพราะไม่มีฝน เขาปลูกกล้าไว้ แล้วเมื่อขึ้นมาก็ปักดำ ปักดำไม่ได้เพราะว่าไม่มีน้ำ ก็ปักในทราย ทำรูในทรายแล้วปักลงไป เมื่อปักแล้ว ตอนกลางวันก็เฉา มันงอลงไป แต่ตอนกลางคืนก็ตั้งตัว ตั้งตรงขึ้นมาเพราะมีน้ำค้าง...”

          “…วิธีการแก้ไข คือ ต้องเก็บน้ำฝนที่ตกลงมา ก็เกิดความคิดว่า อยากทดลองดูสัก ๑๐ ไร่ ๓ ไร่ จะเป็นบ่อน้ำเก็บฝน...อีก ๖ ไร่ ทำเป็นนา ส่วนที่เหลือก็เป็นบริการ หมายถึงทางเดิน หรือกระต๊อบ...”

          พื้นที่บริเวณวัดมงคล ซึ่งต่อมาเพิ่มเติมชื่อเป็น “วัดมงคลชัยพัฒนา” จึงเป็นโครงการทดลองเพื่อให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม ในการบริหารจัดการที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาความแห้งแล้งที่จะมีผลต่อผลผลิต

สระน้ำทฤษฎีใหม่

          กระบวนการพัฒนาพื้นที่ เริ่มจากการศึกษาสภาพพื้นที่ ปรับปรุงบำรุงดินและจัดทำแปลงสาธิตการปลูกไม้ผล ไม้ดอก แปลงทดสอบปลูกต้นไม้ต่างระดับ ขุดสระน้ำเลี้ยงปลา ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ดำเนินการโดยได้รับความร่วมมือจากทั้งราชการ ชาวบ้าน และวัด อันเป็นที่มาของหลักการพัฒนาแบบ “บ ว ร” ซึ่ง “บ” หมายถึง บ้านหรือชาวบ้าน “ว” หมายถึง วัดหรือพระสงฆ์ “ร” หมายถึงโรงเรียนหรือราชการ นับเป็นองค์ประกอบสามส่วนที่เป็นกลไกประสานความร่วมมือกันสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่น ซึ่งต่อมาหลักการพัฒนานี้ได้ขยายผลไปยังโครงการอื่นๆ ด้วย ได้แก่ โครงการห้วยองคต จ.กาญจนบุรี โครงการวัดพระราม๙ กรุงเทพฯ เป็นต้น

          “ทฤษฎีใหม่” กลายเป็นแนวทางใหม่ที่ช่วยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสามารถพึ่งพาตนเองได้ และพร้อมก้าวไปสู่ความสำเร็จที่มั่นคงและยั่งยืน มีการขยายผลไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ

          จากการศึกษาทดลอง มีองค์ความรู้ที่นำมาจัดทำเป็นหลักสูตรฝึกอบรมขยายผล ดังนี้
          ๑. การเกษตร “ทฤษฎีใหม่”
          ๒. การทำปุ๋ยหมัก
          ๓. การปรับปรุงบำรุงดิน
          ๔. การปลูกพืชผักกินใบ

  แผนผังการแบ่งแปลงตามทฤษฎีใหม่                                

แผนผังระบบชลประทาน “อ่างใหญ่เต็มอ่างเล็ก...”

การปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด

 การปลูกพืชผักกินใบ (โหระพา,สะระแหน่,กะเพรา เป็นต้น)

 


กลุ่มนโยบายพิเศษ
          ๒๖ เมษายน ๒๕๖๒

 

 

 

curve