รายละเอียดองค์ความรู้
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย
ร.๙ เสด็จฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษาวิเคราะห์ดินในเอกสาร “Soil Dev การพัฒนาดิน” ที่พระราชทานแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับปัญหาดินของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี สรุปว่า “ดินทราย มีแร่ธาตุน้อย ดินดาน” ต้นเหตุของปัญหา เดิมเป็นป่าโปร่งคนไปตัดไม้สำหรับเป็นฟืนและสำหรับเผาถ่าน ต่อจากนั้น มีการปลูกพืชไร่และสับปะรดจนดินจืดกลายเป็นทราย ถูกลมและน้ำชะล้างไปหมด จนเหลือแต่ดินดาน ซึ่งเป็นดินที่แข็งตัวเมื่อถูกอากาศ ดินนี้ก็ไม่มี
แร่ธาตุที่เป็นประโยชน์
มีพระราชดำรัสกับคณะกรรมการ กปร. และคณะเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๑ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ตอนหนึ่ง ความว่า
“...ห้วยทรายก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งคือ เริ่มมาจากพื้นที่ที่อยู่ในความควบคุมของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพราะถือว่าเป็นเขตของมฤคทายวันราชนิเวศน์ แต่ว่าเป็นพื้นที่ที่มีคนเข้าไปอยู่ในนั้นมาก ฉะนั้นก็ต้องพยายามที่จะพัฒนาให้คนที่เข้าไปอยู่ในนั้นมีความอยู่ดีกินดีขึ้น ก็มีอุปสรรคต่างๆมากหลาย แต่ก็ได้ดำเนินกิจการมีการพยายามปลูกป่าบนภูเขา โดยใช้น้ำที่สูบด้วยโซล่าเซลล์ เป็นต้น...”
สภาพื้นที่ดั้งเดิม
เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๖ มีพระราชดำริ ให้พัฒนาพื้นที่เขตพระราชนิเวศมฤคทายวัน สรุปความว่า “หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด” และให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายขึ้นในพื้นที่ประมาณ ๘,๗๐๐ ไร่ ให้เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์ ศึกษารูปแบบการพัฒนาเกษตรกรรมที่เหมาะสม ควบคู่กับการอนุรักษ์และปลูกป่า จัดหาแหล่งน้ำ โดยฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม และให้ดำเนินงานในรูปแบบ “ป่าไม้หมู่บ้าน” คือ ให้ราษฎรดำเนินการเอง เป็นเจ้าของเอง ปลูกป่าและบำรุงดูแลรักษาต้นไม้เอง ระยะแรกให้หน่วยราชการเข้าไปสาธิตแนะนำให้ราษฎรรู้จักเพาะกล้าไม้ ทั้งไม้โตเร็ว ไม้ผล และไม้เศรษฐกิจ พร้อมทั้งศึกษาการป้องกันไฟป่าแบบ “ระบบเปียก” ต่อมาได้มีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อปรับปรุงดิน เปรียบเสมือนกำแพงธรรมชาติที่มีชีวิต ช่วยชะลอการไหลของน้ำสามารถดักตะกอนดิน ทำให้เกิดหน้าดินและความชื้นในดินด้วย
อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด
แปลงหญ้าแฝกและดินดาน
แปลงป่าไม้และระบบป่าเปียก
กลุ่มนโยบายพิเศษ
๒๒ มีนาคม ๒๕๖๒