ผู้พระราชทาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช

จังหวัด ลำพูน วันที่ 03 พฤศจิกายน 2535

พระราชดำริ

พื้นที่บริเวณนี้ซึ่งเป็นป่าเสื่อมโทรม มีสภาพแห้งแล้งมาก ทั้งๆ ที่ดินยังมีคุณภาพดีอยู่ จึงสมควรพิจารณาวางโครงการพัฒนาพื้นที่โดยเร่งด่วน เป็นลักษณะโครงการร่วมกันระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมป่าไม้ กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อกการเกษตรกรรม และอำเภอป่าซาง เป็นต้น โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานกปร.) เป็นแกนกลางประสาน สำหรับพัฒนาแหล่งน้ำนั้น กรมชลประทานควรรีบก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่อาวน้อย เพื่อให้ทันเก็บกับน้ำในฤดูฝน ตลอดจนพิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอีกแห่งหนึ่งตอนบน เพื่อผันน้ำมาเสริมที่อ่างเก็บน้ำแม่อาวน้อย นอกจากนั้นต้องรีบขุดบ่อเก็บน้ำกระจายตามจุดที่เหมาะสม เพื่อสำรองน้ำไว้หล่อเลี้ยงแปลงเพาะปลูกในอัตราประมาณบ่อละ 100 - 200 ไร่ เพื่อประทังความเดือดร้อนของราษฎร ส่วนร่องน้ำต่างๆ ในเขตโครงการนี้ น่าจะสร้างฝายต้นน้ำลำธารเพื่อเก็บกักน้ำเป็นช่วงๆ ตลอดแนวจนถึงหนองเหียง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และให้พัฒนาห้วยแม่อาวใหญ่ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งเมื่อพัฒนาโครงการนี้ได้สมบูรณ์แล้ว จักได้วางแนวปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างและการกัดเซาะหน้าดิน ในด้านการพัฒนาป่าไม้ ควรดำเนินการจำแนกที่ดินด้วยการเดินสำรวจ ประกอบกับการพิจารณาจากแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ จะได้สามารถจัดที่ดินได้เหมาะสมตามหลักการ กล่าวคือสงวนพื้นที่ตามบริเวณเนินเขา กับทำนุบำรุงให้ป่าไม้ค่อยๆ ฟื้นคืนสภาพทีละน้อย เมื่อโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์อาจมีพื้นที่รับน้ำถึง 2000 ไร่ ราษฎรก็จะสามารถเข้าทำกินในพื้นที่ได้อย่างถาวร ไม่ต้องอพยพไปบุกรุกเขตป่าสงวนในตอนบนอีกต่อไป ราษฎรที่อาศัยในเขตอ่างเก็บน้ำและถูกน้ำท่วม ทางโครงการ ฯ ก็ต้องจัดสรรให้เข้าอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีระบบชลประทานสมบูรณ์ซึ่งจะสามารถทำกินได้เพียงพอกับอัตภาพ โครงการนี้ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป

สถานที่

ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

curve