ผู้พระราชทาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช

จังหวัด เพชรบุรี วันที่ 22 กรกฎาคม 2535

พระราชดำริ

พื้นที่บริเวณนี้ ถูกกระแสน้ำกับกระแสลมพัดความอุดมสมบูรณ์ออกจากผิวดินจนหมดสิ้น จนใช้ทำการเพาะปลูกไม่ได้ จึงจำเป็นต้องเร่งรัดการปลูกหญ้าแฝกซึ่งเป็นพืชที่ทนน้ำ ในขณะเดียวกันก็ทนแล้งด้วย ตามแนวเส้นระดับความสูงให้ลดหลั่นไปและต้องปลูกขวางร่องน้ำที่เกิดจากการเซาะของกระแสน้ำ เพื่อบังคับให้กระแสน้ำที่เคยไหลตามร่องดังกล่าวแผ่ซ่านไปทั่วอาณาบริเวณ ร่องน้ำก็จะค่อยตื้นเขินขึ้นจนในที่สุดจะมีระดับเสมอกันหมด เมื่อทำการปลูกแฝกเพื่อชะลอความรุนแรงของกระแสน้ำ ก็เท่ากับเป็นการบังคับให้น้ำซึมซาบไปทั่วพื้นที่ระหว่างแนวแฝกแต่ละแนวอย่างเสมอกัน และส่วนหนึ่งจะซึมลงไปในดิน เป็นผลให้โครงสร้างดินเริ่มมีความนุ่ม สามารถเก็บรักษาปุ๋ยธรรมชาติไว้บนผิวดิน และความชุ่มชื้นไว้ใต้ดิน และสามารถปลูกพืชไร่ พืชผล หรือหญ้าได้ผล ส่วนรากหญ้าแฝกซึ่งมีลักษณะเหยียดตรงและเจาะลงลึกไปในดิน จะทำหน้าที่เป็นปราการหรือเขื่อนใต้ดิน ซึ่งสามารถเก็บกักปริมาณน้ำและแร่ธาตุที่มีคุณค่าไว้ได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนั้นหญ้าแฝกยังมีคุณสมบัติที่ดีอีกอย่างหนึ่งคือ สามารถรับพิษจากแร่ธาตุบางชนิดในใต้ดินเก็บไว้ในลำต้น ไม่ให้แพร่กระจายไปสู่พื้นที่ในระดับต่ำลงไป โดยเฉพาะมิให้ลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ นอกจากนี้เมื่อหญ้าแฝกที่รับพิษจากแร่ธาตุนั้นสลายตัวไป ก็จะกลายเป็นปุ๋ยตามธรรมชาติให้แก่ต้นไม้ต่อไป เมื่อราษฎรในพื้นที่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อยังชีพได้แล้ว ต่อไปก็จะเริ่มเข้าใจประโยชน์ของการปลูกแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งทางราชการเป็นฝ่ายริเริ่มส่งเสริมพัฒนาที่ดิน ก็จะช่วยขยายการปลูกแฝกออกไปเรื่อยๆ จะเป็นผลให้เพิ่มพื้นที่สีเขียว ฟื้นฟูสภาพที่ดินอย่างรวดเร็ว อันจะทำให้ฝนตกโดยเฉลี่ยในพื้นที่เพิ่มขึ้น และทำให้ปริมาณน้ำสำรองในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบัน นอกจากนี้ยังสามารถผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดมาเสริม อันทำให้ทำการเกษตรกรรมได้อย่างครบวงจร

สถานที่

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

curve