ผู้พระราชทาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช

จังหวัด เชียงใหม่ วันที่ 02 มีนาคม 2527

พระราชดำริ

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ควรทำการศึกษาการพัฒนาป่าไม้พื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลักต้นทางและปลายทางเป็นการศึกษาการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรอย่างแท้จริง ผสมกับการศึกษาด้านสหกรณ์ ด้านเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์(รวมโคนม) และด้านเกษตรอุตสาหกรรม รวมทั้งด้านตลาดอีกด้วย เพื่อให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้แห่งนี้เป็นศูนย์ที่สมบูรณ์แบบ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่าง ๆ ภายในศูนย์แล้ว นำไปใช้ปฏิบัติอย่างได้ผลต่อไป แนวทางในการดำเนินงานแต่ละด้าน ควรมีดังต่อไปนี้ การจัดหาแหล่งน้ำ 1) อ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ ความจุ 2.0 ลบ.ม. รพช. ได้ก่อสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2522 2) อ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 1 ความจุ 0.25 ลบ.ม. กรมชลประทานก่อสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2526 3) ระบบท่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ลายไปลงอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 1 ปริมาณน้ำประมาณ 60 ลิตรต่อวินาที หรือประมาณวันละ 5,000 ลบ.ม. กรมชลประทานก่อสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2527 4) ควรพิจารณาดำเนินการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 1 ในปี 2527 เพื่อส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่พัฒนาป่าไม้ด้วยน้ำชลประทาน ประมาณ 600 ไร่ ควรก่อสร้างอาคารบังคับน้ำตามแนวท่อไว้ที่บริเวณห้วยธรรมชาติที่ท่อส่งน้ำตัดผ่าน เพื่อระบายน้ำลงสู่ลำห้วยให้กับฝายเก็บกักน้ำต่าง ๆ และสร้างอาคารบังคับน้ำไว้ตามลูกเนินแล้วขุดคูส่งน้ำระบบก้างปลาไว้ โดยให้คูส่งน้ำลัดเลาะไปตามลูกเนินมีส่วนลาดชันเพียงเล็กน้อย และสร้างฝายปิดกั้นน้ำในคูไว้เป็นช่วง ๆ ให้น้ำขังอยู่ในคูได้เป็นระยะเวลานาน เพื่อให้น้ำคูซึมลงไปเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน สำหรับสนับสนุนการปลูกป่าให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์ต่อไป 5) ควรพิจารณาดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 2 พร้อมระบบส่งน้ำบางส่วนในปี 2527 เพื่อส่งน้ำสนับสนุนกิจกรรมด้านต่าง ๆ ของศูนย์ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี 2527 นี้ เช่น หมู่บ้านเกษตรกรรมแบบประณีต การปลูกทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงโคนมและการเกษตรกรรมอื่น ๆ 6) ควรพิจารณาสร้างฝายเก็บกักตามลำน้ำสาขาของห้วยฮ่องไคร้ โดยสร้างเป็นฝายแบบง่ายๆ เช่น ฝายหินตั้ง และฝายแบบชาว บ้าน โดยดำเนินการก่อสร้างเป็นช่วง ๆ ทั้งในเขตพื้นที่ พัฒนาป่าไม้ด้วยน้ำชลประทานและพื้นที่พัฒนาป่าไม้ ด้วยน้ำฝน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาป่าไม้ให้ได้ผลอย่าง สมบูรณ์ต่อไป ควรเร่งดำเนินการในปี 2527 บางส่วนและ ดำเนินการในปีต่อ ๆ ไปตามความเหมาะสม การพัฒนาป่าไม้ เนื่องจากการปลูกป่าในสภาพปัจจุบัน ปลูกกล้าไม้ไป 100 ต้น จะเหลือเพียง 30 ต้น โดยตายไปเสีย 70 ต้น เนื่องจากขาดแคลนน้ำ นอกจากนั้นในฤดูแล้งต้นไม้ต่าง ๆ จะแห้งมาก ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าเสียหายจำนวนมากเป็นประจำทุกปี ดังนั้นในการพัฒนาป่าไม้ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้นี้ จึงได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและฝายเก็บกักน้ำบริเวณต้นน้ำลำธารขึ้น เพื่อเป็นการศึกษาและทดลองการปลูกป่าโดยให้น้ำชลประทาน ซึ่งเชื่อแน่ว่าป่าไม้ที่ปลูกโดยได้รับน้ำชลประทานนี้จะต้องเจริญเติบโตเร็ว นอกจากนั้นพื้นดินจะชุ่มชื้นตลอดเวลา และต้นไม้จะเขียวสดตลอดทั้งปี ทำให้เกิดไฟป่าได้ยากและเปอร์เซ็นต์การตายหลังจากปลูกกล้าไม้แล้วจะต้องลดลงมากด้วยอาจจะเหลือเปอร์เซ็นต์การตายเพียง 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ แทนที่จะตายประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เช่น ในสภาพปัจจุบัน 1) การพัฒนาป่าไม้ในเขตชลประทาน พื้นที่พัฒนาป่าไม้ด้วยน้ำชลประทานจากอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 1 ประมาณ 600 ไร่ นั้น พื้นที่ตามลูกเนินจะได้รับน้ำซึมจากคูน้ำระบบก้างปลา และพื้นที่ตามริมน้ำลำห้วยธรรมชาติต่าง ๆ สำหรับช่วงที่ขาดฝนและตลอดในระยะฤดูแล้ง จะทำให้ป่าไม้ในพื้นที่นี้ได้รับน้ำตลอดปี ซึ่งต้นน้ำจะเขียวชอุ่มตลอดปี และนอกจากนั้นพื้นที่ดินยังชุ่มชื้นตลอดทั้งปีอีกด้วย ลักษณะของพื้นที่ป่าไม้ทั้ง 60 ไร่ บริเวณนี้จะเป็นแนวป้องกันไฟ (ป่าเปียก) ทั้งผืน 2) การพัฒนาป่าไม้นอกเขตชลประทาน พื้นที่พัฒนาป่าไม้นอกเขตชลประทานภายในศูนย์แห่งนี้ มีพื้นที่ประมาณ 6,000 ไร่ สำหรับพื้นที่ตามร่องห้วยธรรมชาติต่าง ๆ จะได้รับน้ำซึมจากฝายเก็บน้ำต่าง ๆ และฝายเก็บน้ำเหล่านี้ควรต่อท่อชักน้ำทั้งสองฝั่ง (อาจจะใช้ท่อไม้ไผ่) เพื่อชักน้ำจากเหนือฝายกระจายน้ำออกไปตามสันเนิน เพื่อให้น้ำซึมลงไปในดินเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน สำหรับการสนับสนุนการปลูกป่าไม้ตามร่องห้วยธรรมชาติและชายเนินต่อไป ซึ่งต้นไม้ตามร่องห้วยและชายเนินนี้จะเติบโตเร็วคลุมร่องห้วยไว้ ทำให้พื้นดินชุ่มชื้นตลอดเวลาลักษณะเป็นแนวป้องกันไฟ (ป่าเปียก) เป็นแนว ๆ ไปตามร่องห้วยต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว การปลูกควรพิจารณาดำเนินการปลูกในพื้นที่ป่าที่ถูกลอบทำลายไว้แล้วก่อนและการปลูกป่าตามแนวถนนในเขตโครงการที่ก่อสร้างไว้แล้วหรือที่จะก่อสร้างต่อไป ซึ่งต้นไม้บางส่วนถูกทำลายไปเนื่องจากการก่อสร้างถนนดังกล่าว ควรพิจารณาดำเนินการปลูกต้นไม้ชนิดที่ใช้ประกอบในการทำอาหารได้ เช่น ต้นแค ต้นขี้เหล็ก มะรุม สะเดา มะม่วง เป็นต้น โดยปลูกให้เป็นหย่อม ๆ เพื่อความสวยงามและใช้ประโยชน์ได้ด้วย ส่วนพื้นที่ป่าโดยทั่วไป ควรพิจารณาปลูกไม้ 3 อย่าง ไม้ใช้สอย ไม้ผล และไม้ฟืน (รวมไม้ใช้งาน เช่น ไม้ไผ่) ตามความเหมาะสม ควรพิจารณาก่อสร้างถนนสันเขา และก่อสร้างรั้วตามแนวถนนรอบเขตโครงการ เพื่อการตรวจสอบสภาพป่าไม้อย่างทั่วถึง ป้องกัน การบุกรุกทำลายป่าและจะจัดทำเป็นสวนสัตว์เปิดในระยะต่อไปด้วย การประมง เรื่องการศึกษาการเลี้ยงปลาภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ไม่ควรจะถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากมีสถานีประมงต่าง ๆ ดำเนินการอยู่แล้ว ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการประมงที่ควรจะศึกษาในศูนย์นี้ก็คือ ควรจะศึกษาวางระเบียบบริหารเกี่ยวกับการจับปลาในอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งเทคนิคควบคุมการจับปลาด้วย เพื่อให้ราษฎรได้รับประโยชน์จากปลาในอ่างอย่างแท้จริง ซึ่งควรตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์การจับปลา ในเวลาเดียวกันกับที่มีการจับปลาก็ควรจะมี การลงทุน เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงปลาด้วย ถ้าสามารถศึกษาและ ทำให้การจับปลาในบริเวณนี้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้โดยไม่แย่งกันเอาเปรียบกัน ไม่ทำลายพันธุ์ปลา ปลาก็ไม่สูญพันธุ์ สามารถจับปลาได้ตลอดไป ก็จะเป็นทางที่เหมาะสมและจะได้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับอ่างเก็บน้ำแห่งอื่น ๆ ต่อไป การปศุสัตว์และโคนม การปศุสัตว์จำเป็นต้องศึกษาตั้งแต่การเลี้ยงปศุสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงให้ได้ผลดีรวมไปถึงการผลิตและการจำหน่ายด้วย ส่วนเรื่องโคนมเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาที่จะทำให้ราษฎรมีอาหารนมพอบริโภคในระยะแรก และหากมีมากก็ศึกษาหาวิธีที่อาจจะดัดแปลงเพียงเล็กน้อยก็สามารถที่จะผลิตนมนี้เก็บไว้ได้นานและจำหน่ายได้ สำหรับการปศุสัตว์และโคนมนี้จะต้องไม่เลี้ยงมากเกินไปมีพอสมควร มิฉะนั้นจะมีจำนวนโคนมมากเกินกว่าพื้นที่ที่จะรับได้ นอกจากนั้นควรศึกษาและทดลองถึงการคิดทำพื้นที่ปลูกหญ้ารวมทั้งพันธุ์หญ้าที่เหมาะสมด้วย เพื่อจะได้เผยแพร่ให้ราษฎรต่อไป การเกษตรกรรม ควรศึกษาเกี่ยวกับการปลูกพืชแต่ละชนิด ถึงความเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ ลักษณะดิน และการให้ปุ๋ยสำหรับพื้นที่ตามขอบอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ บริเวณนี้ค่อนข้างราบควรทดลองปลูกข้าว โดยการปรับพื้นที่ให้เหมาะสมและใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำไหลเข้าไปท่วมข้าวในแปลงนาหรือเมื่อระดับน้ำในอ่างลดลง ก็จะอาศัยน้ำจากอ่างซึมเข้ามาสู่รากพืชทางใต้ดิน หากระดับน้ำในอ่างลดต่ำลงไปมาก โดยเฉพาะในระยะฤดูแล้งอาจจะใช้สูบน้ำโดยกังหันลมหรือใช้ระหัดแบบคนถีบช่วยสักระยะหนึ่ง ก็อาจทำได้ซึ่งเป็นการใช้พื้นที่ขอบอ่างเก็บน้ำปลูกข้าวได้ด้วยวิธีดังกล่าวมาแล้ว โดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำช่วยซึ่งสิ้นเปลืองมาก การเกษตรอุตสาหกรรม ควรศึกษาโดยมีเป้าหมายเน้นในด้านอุตสาหกรรมแปรรูปจากผลผลิตการเกษตรระดับครัวเรือนเป็นหลัก ในลักษณะของโรงงานขนาดเล็กคุณภาพดีพอสมควร มีรูปแบบที่ราษฎรสามารถร่วมกันจัดสร้างขึ้นมาได้ และราคาไม่แพงเกินไป ซึ่งในหมู่บ้านหนึ่งก็สามารถทำได้ตามมาตรฐานและแต่ละหมู่บ้านทำได้ในมาตรฐานเดียวกันและหลาย ๆ หมู่บ้านก็จะรวมกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ ดำเนินการจำหน่ายผลิตผลออกสู่ตลาดต่อไป สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งหมดดังกล่าวแล้ว ควรดำเนินงานด้านการศึกษาการพัฒนาเป็นหลัก ได้แก่ การศึกษาถึง วิธีการต่าง ๆ ที่เหมาะสมสามารถนำไปใช้พัฒนาในท้องถิ่นได้ แล้วสาธิตเผยแพร่วิธีการพัฒนาที่เหมาะสมนั้นเป็นแบบอย่างให้ราษฎรนำไปใช้ปฏิบัติต่อไป

สถานที่

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ

curve