ผู้พระราชทาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช

จังหวัด เพชรบุรี วันที่ 26 มิถุนายน 2532

พระราชดำริ

1.สวนสมเด็จฯ พื้นที่วนเกษตรขอให้รักษาสภาพป่าด้วยการปลูกป่าโดยใช้ไม้พันธุ์เดิมที่สามารถดำรงอยู่ได้ตามธรรมชาติ และ การปลูกไม้ผลนี้ควรขยายออกไปแทนที่ไม้ยูคาลิปตัส เพื่อให้ค่อย ๆ ลดจำนวนลงและนำไปใช้เผาถ่าน เพราะไม้ยูคาลิปตัสที่ต่างประเทศปลูกเพื่อใช้ทำฟืนและผลิตพลังไฟฟ้านั้น ไม่สู้จะได้ผลและต้องการบำรุงรักษาเช่นไม้ทั่วๆ ไปด้วย ดังนั้น จึงควรปลูกไม้ผลจะดีกว่า 2.พื้นที่บริเวณเขาเสวยกะปิการปลูกป่าด้วยน้ำชลประทาน ซึ่งดำเนินการอยู่แล้วได้ผลดีนั้นให้ดำเนินการสืบต่อไปพยายามปลูกบนที่สูงกว่าเดิม และใช้น้ำชลประทานที่สูบขึ้นไปในระดับประมาณ 150 เมตร แล้วค่อย ๆ ปล่อยลงมาเลี้ยงป่าที่จะปลูกเพิ่มขึ้นบริเวณเขาเสวยกะปิช่วงบน 3.สำหรับต้นไม้ที่จะปลูกบริเวณภูเขาน้อยและภูเขาทอง หรือภูเขาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภูเขาที่เป็นต้นน้ำลำธารนั้น จะปลูกไม้ชนิดใดก็ได้ แต่ภูเขาที่เป็นต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะด้านเหนือโครงการให้ปลูกไม้ที่เป็นไม้ดั้งเดิมของพื้นที่นั้น ๆ เป็นหลัก 4.การปลูกป่าโดยการปลูกมะม่วงหิมพานต์ที่ดำเนินการไปแล้วประมาณ 1,000 ไร่ นั้น นับว่าเป็นจำนวนมากพอที่จะมีผลผลิตป้อนเข้าโรงงานได้แล้ว จึงควรที่จะพิจารณาตั้งโรงงานกะเทาะเปลือกขึ้น และให้ชาวบ้านที่ปลูกเข้ามาเป็นสมาชิก โดยดำเนินงานในลักษณะคล้ายกับสหกรณ์ โดยศูนย์ฯ อาจเป็นคนกลางในการจัดการเองและการรับเมล็ดมะม่วงหิมพานต์เข้าโรงงานนี้ อาจรับมาจากที่อื่นภายนอกโครงการด้วยก็ได้ 5.ในพื้นที่ที่ยังมีปัญหา เช่น บริเวณเขาน้อย ซึ่งราษฎรมีความประสงค์จะปลูกป่าเองก็ไม่ขัดข้องแต่ต้องปลูกตามแผนการที่ทางราชการกำหนด และวางแผนไว้ เช่น ให้ราษฎรปลูกมะม่วงหิมพานต์แล้วราษฎรก็สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ๆ 6.เรื่องการเผาถ่าน หากมีพื้นที่เหมาะสมก็ควรศึกษาเรื่องนี้ด้วย เพราะศูนย์ฯ นี้เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอยู่แล้ว แต่การปลูกป่าเพื่อการนี้ต้องทำเป็นแปลง ๆ และระหว่างแปลงนั้น ก็ปลูกพืชไร่ โดยพยายามให้น้ำและให้พื้นที่มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ มิฉะนั้นอาจจะเกิดปัญหาเรื่องไฟป่าได้

สถานที่

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ

curve