ผู้พระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

จังหวัด เชียงใหม่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2544

พระราชดำริ

ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปพิจารณาช่วยเหลือราษฎรให้มีสภาพความป็นอยู่ที่เหมาะสมกับสภาพชุมชนเดิม และให้เป็นไปตามความต้องการและตามความสนใจของราษฎรในการประกอบอาชีพของราษฎร เนื่องจากราษฎรบ้านขุนวินได้ยึดแนวในการดำรงชีวิตโดยมิได้มีการบุกรุกทำลายป่า แต่กลับรวมตัวกันในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปตามความต้องการของราษฎร เพื่อให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของชุมนดั้งเดิม เป็นการรักษาสภาพชุมชนเอาไว้ เพราะราษฎรในหมู่บ้านแห่งนี้มีประเพณีอันดีในด้านการอนุรักษ์ป่าไม้อยู่แล้ว ได้แก่ การกันพื้นที่เป็นป่าเพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้สำหรับการสืบทอดวัฒนธรรมเกี่ยวกับการบวชป่า การสืบชะตาป่า ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมอันดีที่นอกจากจะรักษาเอกลักษณ์ของชุมชนเอาไว้ได้แล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ป่าไปด้วยในตัว กรมป่าไม้สนองพระราชดำริด้วยการเข้าไปส่งเสริมโดยการจัดทำพื้นที่สำหรับปลูกไม้ใช้สอยส่วนหนึ่ง ปลูกป่าเพิ่มเติมในพื้นที่ที่เป็นป่าเสื่อมโทรมส่วนหนึ่ง ปลูกป่าเปียกตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองข้างทางลุ่มน้ำหลักในหมู่บ้าน คือ ลุ่มน้ำห้วยแม่วินและลุ่มน้ำห้วยหนองปลาส่วนหนึ่ง พร้อมทั้งจัดสร้างฝายต้นน้ำเพื่อลดตะกอนในลำห้วย 15 แห่ง อันจะเป็นการช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่บริเวณพื้นที่ลำห้วย ได้มีการจัดอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่าแล้ว 1 รุ่น มีการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 2 ชนิด คือ หมูป่าและไก่ป่า เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้แก่ราษฎร แจกจ่ายพันธุ์ไก่ พันธุ์เป็ดเทศและกระบือแก่ราษฎรนำไปขยายพันธุ์ต่อไป เพื่อเป็นการเพื่มแหล่งอาหารโปรตีน ได้สนับสนุนให้ราษฎรใช้กระบือทำนา ในด้านการพัฒนาการเกษตรได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดหาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่แจกจ่ายแก่ราษฎรโดยเน้นไม่ให้ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช กรมวิชาการเกษตรได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวนาที่สูงให้ราษฎรนำไปทดลองปลูกจำนวน 4 พันธุ์ คือ พันธุ์ขามเหนี่ย เชียงรุ้ง บือโปะโละ และบือพะทอ ซึ่งให้ผลผลิตสูงและต้านทานต่อโรคแมลงได้ดี ในโอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทอดพระเนตร "มะแขว่น" ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้จากป่าดั่งเดิม เป็นไม้ขนาดกลางขึ้นกระจายทั่วไปในป่าดงดิบ ชาวบ้านนำดอก ก้านดอก เปลือก มาใช้ประโยชน์เป็นยาสมุนไพร และใช้เป็นเครื่องเทศประกอบอาหารประเภทลาบ และแกงต่างๆ สามารถดับกลิ่นคาวได้ดี มีกลิ่นหอมและมีรสเผ็ด ราษฎรบ้านขุนวินมีรายได้จากการขายมะแขว่นสดได้กิโลกรัมละ 30 บาทถึง 50 บาท หากเป็นมะแขว่นแห้งก็จะขายได้กิโลกรัมละ 100 บาทถึง 150 บาท กรมป่าไม้จึงได้ส่งเสริมให้ราษฎรนำมาตากแห้งและบดเป็นผง ซึ่งนอกจากจะสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานแล้วยังเพิ่มคุณค่าและราคาได้ดีด้วย สำหรับหวายซึ่งเป็นพันธุ์พืชอีกชนิดหนึ่งที่ราษฎรนิยมนำมาใช้ประกอบในการทำเป็นหลังคามาตั้งแต่เดิมนั้น มีอยู่ 2 ชนิดคือ หวายน้ำขาวและหวายน้ำ กรมป่าไม้ได้ส่งเสริมให้ปลูกรวมในลักษณะป่าชุมชนประเภทไม้ใช้สอย ในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรให้แก่ราษฎรบ้านขุนวิน กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริด้วยการก่อสร้างฝายห้วยแม่วินตอนบนพร้อมระบบส่งน้ำเสร็จสมบูรณ์ พร้อมทั้งก่อสร้างบ่อเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดคาวมจุ 50,000 ลิตร และขนาดความจุ 1,000,000 ลิตร เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับส่งให้แก่ราษฎรใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ บ้านขุนวิน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

สถานที่

บ้านขุนวิน หมู่ที่ 16 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

curve