ผู้พระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

จังหวัด ปัตตานี วันที่ 01 ตุลาคม 2544

พระราชดำริ

โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กิจกรรมการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลด้วยรถยนต์ ที่ไม่ใช้งานแล้ว จำนวน 200 คัน)

 

เรื่องเดิม

 

1.  ปี พ.ศ. 2544 ราษฎรบ้านละเวง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ได้กราบบังคมทูล        ขอพระราชทานความช่วยเหลือจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในเรื่องการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ เนื่องจากมีปริมาณลดลงเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2544 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระราชดำริแก่นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ณ พระตำหนัก ทักษิณราชนิเวศน์ สรุปได้ว่า ให้จัดหาพื้นที่ในการจัดตั้งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและการอนุบาลสัตว์น้ำ เพื่อปล่อยลงสู่ทะเลบริเวณจังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะในเขตบริเวณที่ทำการประมงชายฝั่งของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่มีปัญหา พร้อมทั้งจัดทำปะการังเทียมให้เกิดเป็นแหล่งชุมนุมและที่อยู่อาศัยของปลา รวมทั้งการฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง

 

2. เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ   ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จังหวัดอ่างทอง โดยมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี นายสมพล พันธุ์มณี เลขาธิการ กปร. นายจรัลธาดา กรรณสูต อธิบดีกรมประมง และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน   ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และกราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (ปะการังเทียม) ในโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล   อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ซึ่งในปี พ.ศ. 2550 กรุงเทพมหานคร จะสนับสนุนรถยนต์เก่า จำนวน 200 คัน เพื่อจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลในบริเวณดังกล่าว ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระราชกระแสสรุปว่า “การดำเนินงานโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลมีประโยชน์มาก  มีปลามาอาศัยอยู่มาก ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น ขอให้กรมประมงพิจารณาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง” พร้อมทั้งทรงรับโครงการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลด้วยรถยนต์เก่าของกรุงเทพมหานครไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

 

        

ผลการดำเนินงาน

 

¦  ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2545 – 2549 สำนักงาน กปร. ร่วมกับกรมประมง การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กรมทางหลวง กองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (ปะการังเทียม) ภายใต้โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานีและสงขลา โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนตู้รถไฟเก่า จำนวน 610 คัน กรมทางหลวงสนับสนุนท่อซีเมนต์ 700 ท่อ และกรุงเทพมหานครได้น้อมเกล้าฯ ถวายรถยนต์ จำนวน 189 คัน เพื่อดำเนินการดังกล่าว ซึ่งผลจากการประเมินผลการดำเนินงานพบว่า แหล่งปะการังเทียมที่อยู่ในเขตน้ำลึกจะมีปลาขนาดใหญ่เข้ามาอาศัยอยู่มากกว่าเขตน้ำตื้น แต่แหล่งปะการังเทียมที่อยู่ในเขตน้ำตื้น จะมีปลาขนาดเล็กและลูกปลาวัยอ่อนเข้ามาอาศัยอยู่มาก ซึ่งปลากลุ่มเด่นในปะการังเทียม ได้แก่ ปลาเก๋า ปลากะพง    ปลาสีกุน เป็นต้น สำหรับด้านสมุทรศาสตร์สกายะและเคมี พบว่า ตู้รถไฟ ไม่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของโลหะหนัก ทำให้ไม่ก่อให้เกิดการสะสมของโลหะหนักในสัตว์น้ำ ส่วนใน ด้านเศรษฐกิจสังคม พบว่า การดำเนินงานส่วนใหญ่ส่งผลกระทบในเชิงบวกและทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการจับสัตว์น้ำ โดยรายได้เฉลี่ยก่อนมีโครงการฯ จำนวน 85,121 บาท/ปี หลังมีโครงการฯ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 96,342 บาท/ปี และจากการสอบถามจากชาวประมงพบว่า ยังมีความต้องการให้มีการจัดสร้างปะการังเทียมเพิ่มมากขึ้น

 

          ¦  สำหรับในปี พ.ศ. 2550 ได้จัดวางปะการังเทียมด้วยรถยนต์เก่าที่ไม่ใช้งานแล้ว ซึ่งกรุงเทพมหานคร ได้น้อมเกล้าฯ ถวายอีก 200 คัน ประกอบด้วย รถเก็บขนมูลฝอยแบบอัด รถเก็บขนมูลฝอยแบบเปิดข้าง และรถบรรทุกน้ำ โดยกรมประมงได้กำหนดจุดพิกัดที่วางแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล จำนวน 5 จุด ๆ ละ 40 คัน แบ่งเป็นจังหวัดนราธิวาส 4 จุด และจังหวัดปัตตานี 1 จุด ขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยได้จัดวางในพื้นที่เป้าหมายดังกล่าวช่วงระหว่างวันที่ 9 – 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

 

กรุงเทพมหานครได้น้อมเกล้าฯ ถวายรถยนต์เก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว

จำนวน 200 คัน เพื่อดำเนินการจัดวางในทะเลให้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล

การขนย้ายรถลงเรือบริเวณท่าเรือคลองเตย

เพื่อลำเลียงไปจังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส
การจัดวางรถยนต์เก่าในเรือที่จะลำเลียงไปวางในพื้นที่เป้าหมาย

 

สถานที่

โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล บ้านละเวง หมู่ที่ 3 ตำบลดอนหวาย อำเภอไม้แก่นจังหวัดปัตตานี

curve